ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ บูรณาการแนวทาง ‘Return to Work’ ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ ไม่เกิดความเสี่ยงต่อโรค และไม่เกิดความเสี่ยงต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจให้กลับมาทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยอาจารย์ผ่องพันธ์ ธนา และคณะ ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/ระบบ Program and Disease Specific Certification (PDSC) โรคหลอดเลือดสมอง ตามมาตรฐานคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาล จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ประเมิน Advanced HA 

ดังนั้นหน่วยประสาทวิทยา กลุ่มงานอายุรศาสตร์ จึงได้นำเสนอระบบการดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ Stroke fast track, Stroke Unit และ รถ Mobile stroke ซึ่งทางหน่วยประสาทวิทยามีศักยภาพและทำได้ครบวงจร โดยความร่วมมือระหว่างทีมอายุรกรรม อาชีวเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด โภชนาการ ในการดูแลผู้ป่วย สิ่งที่โดดเด่น คือ การบูรณาการแนวทาง Return to Work เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานเดิมได้ 

ทั้งนี้ ทางสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีการจัดทำแนวปฏิบัติ Return to Work ในผู้ป่วย Stroke เมื่อไปทำงานแล้ว ต้องไม่เกิดความเสี่ยงต่อโรคของตนเอง และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเพื่อนร่วมงาน และสถานประกอบการ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าการทำงานจะทำให้โรคต่างๆ ดีขึ้น การอยู่เฉยๆ ที่บ้านจะทำให้อาการทรงตัวหรือดีขึ้นช้า นอกจากนี้ การทำงานจะทำให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ Return to work นั้น ผู้ป่วยจะต้องมีแรงดีพอสมควร ช่วยเหลือตนเองได้ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะประเมินผู้ป่วย ประเมินความต้องการในงาน (work demand) เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีศักยภาพพอเพียงที่จะทำงานหรือไม่ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเต็มร้อยก่อนจึงจะทำงานได้ 

เนื่องจากงานบางประเภทไม่ได้ต้องการศักยภาพเต็มร้อย อาจต้องการเพียง 60-70% ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปและกลับที่ทำงานได้ ถ้าทำงานเดิมได้ ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนตามข้อจำกัดของผู้ป่วย เช่น ปรับเวลางาน ในระยะแรก อาจมีการพักเป็นช่วง ๆ และควรประเมินกับแพทย์ตามนัดเพื่อเพิ่มเวลาทำงาน หรือเปลี่ยนงานที่ผู้ป่วยพอทำงานได้  หลังจากนั้น จึงปรับให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้เต็มที่ ทั้งนี้ ในการกลับเข้าทำงานนั้น พยาบาลจะทำ case management โดยประสานกับสถานประกอบการ และแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อประเมินระยะเวลาทำงาน การไป-กลับ และข้อจำกัดอื่น ๆ เพื่อให้นายจ้างเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น 

นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า ด้วยกระบวนการเหล่านี้ โรงพยาบาลฯ มุ่งมั่นให้การรักษาผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ ครบวงจร ในการดูแลผู้ป่วย Stroke ในบริบทด้านอาชีวเวชศาสตร์ โดยสามารถบูรณาการร่วมกันรักษาผู้ป่วยกับทีมสหวิชาชีพต่างๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่สำคัญของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีในการดูแลกลุ่มคนวัยทำงานและก่อนสูงอายุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป