ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ลงพื้นที่ จ.สกลนคร ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการและภาคีเครือข่าย ย้ำทำงานแบบพันธมิตร เน้นจับถูกไม่ใช่จับผิด ส่วนวันที่ 7 มิ.ย. 2562 เตรียมลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไประดับเขต ประจำปี 2562

คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข นำโดย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการ รวมทั้ง นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ ณ โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562  เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงานด้านการควบคุมคุณภาพบริการในพื้นที่ สปสช.เขต 8 อุดรธานี

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ พยายามหาโอกาสมาเยี่ยมในพื้นที่และพูดคุยกับเครือข่ายอนุกรรมการควบคุมคุณภาพระดับเขตพื้นที่ (อคม.) คณะอนุกรรมการมาตรา 41 หน่วยรับเรื่องร้องเรียนมาตรา 50 (5)  ตลอดจนกลไกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะการทำงานของคณะกรรมการฯเป็นไปในลักษณะของพันธมิตร เน้นปรึกษาหารือกันเพื่อพัฒนา ไม่ใช่มาจับผิดแต่ช่วยกันจับถูกและพัฒนา

นพ.ชาตรี กล่าวว่า จุดแข็งของการทำงานด้านการควบคุมคุณภาพของ สปสช. ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงระดับพื้นที่คือ Connectivity หรือความเชื่อมโยงกัน ในระดับพื้นที่ทาง อคม. สามารถเข้าไปอยู่ในบริบทของระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ได้อย่างกลมกลืนและมีคุณภาพ จากเดิมที่ปีแรกๆยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

ขณะเดียวกัน ในส่วนกลางก็มีการเชื่อมต่อที่ดีระหว่างคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีคณะอนุกรรมการร่วมกัน เวลามีประเด็นที่ต้องถกเถียงระหว่างคณะกรรมการทั้ง 2 ก็จะมีการจัดเวที Policy Dialogue หรือเวทีเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนมาหาข้อสรุปเบื้องต้นก่อนจะนำไปสู่ Policy Dialogue และมีข้อยุติออกมาเป็นแนวทางที่นำมาปฏิบัติได้

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ด้วยกลไกเหล่านี้ทำให้แม้องคาพยพของระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขจะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างดี ดังนั้นวันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้มารับฟังข้อมูล เชื่อมโยง และนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การมาครั้งนี้ ต้องการมาเยี่ยมเยือนและได้มามองเห็นภาพความเป็นจริงในพื้นที่โดยมีจุดที่ให้ความสำคัญ 2 จุดใหญ่ๆ คือ 1.หน่วยบริการหรือสถานพยาบาล ซึ่งจะดูในเรื่องคุณภาพมาตรฐานและปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการข้อขัดแย้ง

2.กลไกในพื้นที่ ทั้งคณะอนุกรรมการมาตรา 41 หน่วยรับเรื่องร้องเรียนมาตรา 50 (5) รวมทั้งภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะ อคม.เขต 8 ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยทั้ง 2 จุดนี้นอกจากรับทราบปัญหาแล้วก็จะได้นำไปปรับนโยบายหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 7 มิ.ย.2562 ทางคณะกรรมการฯ จะเดินทางไป จ.อุดรธานี เพื่อร่วมเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2562 เวทีระดับเขต 8 อีกด้วย

ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า เขตพื้นที่อีสานตอนบน มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ ทรัพยากรของหน่วยบริการก็ค่อนข้างน้อยไม่ว่าจะเทียบประชากรต่อเตียงหรือประชากรต่อแพทย์ ขณะที่กลไกหลักที่เขต 8 มีก็เป็นกลไกที่คณะกรรมการได้กำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ ศูนย์ประสานงานภาคประชาชน และกลไกอนุกรรมการต่างๆ

ในส่วนของช่องทางการคุ้มครองสิทธิในเขต 8 มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนมาตรฐานที่ สปสช.กำหนดไว้ เช่น สายด่วน 1330 ศูนย์มาตรา 50 (5) โดยเน้นการทำความเข้าใจเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับหน่วยบริการ

อย่างไรก็ดี นอกจากกลไกหลักของ สปสช.แล้ว ในพื้นที่เขต 8 ยังสร้างนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพ (นสพ.) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนกว่า 1,300 คน ทำงานกระจายในชุมชนเพื่อช่วยเสริมการทำงานของหน่วย 50(5) และนอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ปีนี้ยังเพิ่มกลุ่มพระนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพ เพราะพระเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมกับประชาชน บางครั้งหมอพูดแต่ประชาชนไม่เชื่อ แต่เมื่อพระพูดแล้วชาวบ้านเชื่อ ทางเขต 8 จึงถือว่าพระสงฆ์จะเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งในการสื่อสารทั้งเรื่องสิทธิและหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน