ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภา กทม. เห็นชอบตั้ง คกก.วิสามัญ ศึกษาสร้าง รพ. ครอบคลุมทุกพื้นที่ หลังหลายพื้นที่มีแต่ รพ.เอกชน ค่าใช้จ่ายสูง ทำ ปชช. ไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที


เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม. ตามที่ นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง (ส.ก.) เป็นผู้เสนอญัตติ จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาศึกษา 90 วัน

นางกนกนุช กล่าวว่า ประชาชนที่อาศัยใน กทม. พบปัญหาในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของภาครัฐ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากทำให้มีความแออัด การเข้ารับบริการต้องใช้เวลานาน ในหลายพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้ประชาชนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกใหญ่ และเขตทุ่งครุ ที่ไม่มีโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน

ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ทันท่วงที ไม่มีโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยส่งต่อจากสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิจนอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 11 แห่ง จึงควรมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นและครอบคลุมพื้นที่เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ 

1

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอาจเกิด ภาระต่าง ๆ ที่ กทม. ต้องพิจารณาทั้งในเรื่องอัตรากำลังและงบประมาณ ดังนั้น ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เขตที่ยังไม่มีโรงพยาบาลของภาครัฐ รวมถึงศึกษาศักยภาพและความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยของศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) แต่ละแห่ง 

นางกนกนุช กล่าวต่อไปว่า ตลอดจนการหาแนวทางร่วมกับรัฐบาลและเอกชนในการสนับสนุนขยายการบริการประชาชนได้ตรงตามความต้องการและศักยภาพที่มีอยู่ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“กทม. มีโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง และบางส่วนอยู่ระหว่างการก่อสร้าง กทม. ควรมีโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในพื้นที่มีความพร้อม แต่การก่อสร้างจำเป็นต้องมีการศึกษาศักยภาพและความพร้อม และหาแนวทางร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ตรงความต้องการ และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ตามนโยบายเส้นเลือดฝอยของผู้บริหาร กทม.” นางกนกนุช กล่าว