ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหล” คือหนึ่งคำนิยามถึงความศิวิไลซ์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยบรรยากาศแสงสีศูนย์กลางความเจริญที่แซงโค้งเมืองอื่นๆ ของประเทศ แต่ท่ามกลางความสว่างไสวนี้กลับยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่พลัดหลงและตกหล่นอยู่ในมุมมืดของสังคม นั่นคือ “บุคคลไร้สิทธิและสถานะ” ที่แม้จะขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “คนไทย” แต่กลับไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานทางราชการใดที่ยืนยันให้ได้อยู่ดี

หากมองเป็นภาพรวมทั้งประเทศ จะพบว่ามีผู้คนที่ตกหล่นนี้อยู่ราว 5 แสนคน ที่ยังคงไม่สามารถยืนยันตัวตนความเป็น “คนไทย” ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการไม่ได้รับสิทธิหรือสวัสดิการใดๆ จากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น และหนึ่งในนั้นคือบริการด้านสุขภาพ

จากปัญหาการตกหล่นของประชากรนี้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือของ 9 หน่วยงาน ทั้งภาคราชการ และภาคประชาชน ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อร่วมกัน “พัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) ระหว่างคู่เทียบที่เป็นคนไทย

รวมกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ได้นำมาสู่การเปิดตัว “โรงพยาบาลราชพิพัฒน์” หน่วยบริการในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจนำร่องแห่งแรกในพื้นที่ กทม. เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มความสะดวกให้กับการพิสูจน์ตัวตน โดยเฉพาะผู้ที่ยังตกหล่นอยู่ในเมืองหลวงฟ้าอมร

5

วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการค้นหาผู้ที่มีปัญหาสิทธิและสถานะใน กทม. ยังทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากความซับซ้อนของพื้นที่ เมื่อเทียบกับการทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีความชัดเจนกว่า รวมถึงความเข้าใจของเครือข่ายและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ที่มีความแตกต่างกัน

เธออธิบายด้วยว่า ความยากในการสำรวจประชาชนที่ยังตกหล่นเรื่องสิทธิสถานะ คือการตามหาตัวบุคคลที่มีปัญหา เนื่องจากประชาชนในกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยเปิดเผยตัวตน อาจด้วยเพราะความกลัว ขณะเดียวกันที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติผู้ที่ยังตกหล่น จึงทำให้ไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่จากประมาณการเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีประชากรกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สถานะอยู่หลักหมื่นรายใน กทม.

อย่างไรก็ดี จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาจับมือดำเนินงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิ และการเปิดตัวหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจนำร่องใน กทม. ล่าสุดนี้ ก็ถือเป็นทิศทางที่ดีที่จะทำให้การทำงานเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและง่ายขึ้น

ในส่วนของ พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินการพิสูจน์สถานะแก่คนไร้สิทธิ ด้วยวิธีการตรวจ DNA มาตั้งแต่ปี 2548 โดยการพิสูจน์จำเป็นต้องใช้คู่เทียบหรือบุคคลอ้างอิงที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด และมีสัญชาติไทย ว่าตรงกันหรือไม่

ทั้งนี้ จากข้อมูลทั่วประเทศพบว่าจังหวัดที่ร้องขอการตรวจพิสูจน์สิทธิสถานะอันดับแรก ได้แก่ จ.เชียงใหม่ รองลงมาคือ จ.นราธิวาส จ.ระนอง และ กทม.

นอกจากนี้ แม้ที่ผ่านมาทางสถาบันฯ จะทำการพิสูจน์สิทธิมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี แต่ด้วยความที่ประชาชนยังไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไร จึงทำให้การเข้าถึงยังมีไม่มาก โดยตัวเลขตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการตรวจ DNA ให้กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะไปแล้วจำนวน 10,645 ราย กับบุคคลอ้างอิงจำนวน 7,521 ราย

“เมื่อขณะนี้เรามี รพ.ราชพิพัฒน์ อาสาเข้ามาเป็นอีกหนึ่งในเครือข่ายของการตรวจ เมื่อประชาชนทราบก็สามารถเข้ามาตรวจเก็บสารพันธุกรรมเพื่อส่งให้สถาบันฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” พญ.ปานใจ ระบุ

สำหรับเครือข่ายการตรวจ DNA ในปัจจุบัน ทางสถานบันฯ ได้มีการขยายไปแล้วทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี ตราด อุบลราชธานี สงขลา สระบุรี ตาก ศรีสะเกษ และกาญจนบุรี ส่วนปีงบประมาณ 2567 ล่าสุดนี้ได้ขยายเพิ่มมาที่ ชุมพร และ กทม.

4

ขณะที่ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. ระบุว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นการร่วมกันปิดช่องโหว่ปัญหาคนไร้สิทธิและสถานะ โดยการจับมือของหน่วยงานด้านปกครอง การทะเบียน รวมถึงด้านสาธารณสุข ช่วยให้กฎระเบียบที่มีอยู่สามารถยืดหยุ่นได้ตามสมควร เพื่อรองรับการพิสูจน์สถานะของคนที่อยู่ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังจะสอดคล้องกับนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการ ซึ่ง กทม. ก็พร้อมที่จะปรับระบบให้เกิดความสอดคล้อง และปิดช่องว่างทุกทางเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านมาที่หน่วยงานในสังกัด กทม. อาจยังมีข้อจำกัดเรื่องการพิสูจน์สิทธิ ที่ทำได้ค่อนข้างยาก แต่ในช่วงระยะหลัง กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเปลี่ยนวิธีการให้บริการ รวมถึงร่วมตั้งหลักกระบวนการพิสูจน์สิทธิของประชากรที่ตกหล่นอีกครั้ง

รองผู้ว่าราชการ กทม. ยังระบุด้วยว่า ไม่เพียง รพ.ราชพิพัฒน์ เท่านั้นที่สามารถเป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจได้ แต่ยังมีโรงพยาบาลสังกัด กทม. อีกหลายแห่ง รวมไปถึงศูนย์บริการสาธารณสุข ที่มีการทำหน่วยปฏิบัติการ หรือแล็บ อยู่แล้ว ก็สามารถขยายต่อไปในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

“กทม.เองก็อาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อปรับให้การเข้าถึงเป็นเชิงรุกมากขึ้น เพราะขณะนี้หากสังเกต การให้บริการยังเป็นการตั้งรับ คือให้ประชาชนเข้ามายังหน่วยบริการ ซึ่ง รพ.ราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขที่สามารถติดตามข้อมูลของประชาชน ซึ่งก็อาจจะสามารถนำข้อมูล ความเชื่อมโยง มาใช้ร่วมกับสำนักอนามัย หรือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้” รศ.ดร.ทวิดา ระบุ

5

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ในส่วนของ สสส. เข้ามามีส่วนช่วยในการเชื่อมประสาน โดยใช้งานวิชาการเพื่อทำให้นโยบายที่มีอยู่แล้วสามารถเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ จากการประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมกันดำเนินการพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย สามารถช่วยร่นระยะเวลาการพิสูจน์จาก 10-20 ปี เหลือเพียง 3 เดือน - 1 ปีเท่านั้น

“ในปี 2564 เรายังมีเพียง 2 โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีแล้วถึง 14 โรงพยาบาลที่เห็นความสำคัญ และเข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งก็หวังว่าจะมีโรงพยาบาลที่เข้ามาโอบอุ้มกลุ่มคนไทยที่ยังต้องการพิสูจน์สถานะ เพื่อเข้าถึงสิทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ภรณี ระบุ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การได้รับการพิสูจน์สถานะว่าเป็นคนไทย จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของทางรัฐได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันให้การดูแลคนไทยภายใต้ 3 กองทุนหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ที่ครอบคลุมคนไทยได้กว่า 99.5% แต่ยังคงมีประชากรอีกราว 0.5% ที่ยังเข้าไม่ถึง ก็คือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์สถานะความเป็นคนไทยได้

1

“การตรวจ DNA เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะยืนยันสิทธิความเป็นคนไทยได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นการพิสูจน์ DNA จึงเป็นการให้ความมั่นใจ และให้ความคุ้มครองกับประชาชนที่ยังขาดสิทธิตรงนี้ได้” ทพ.อรรถพร ระบุ

อนึ่ง หน่วยงานทั้ง 9 ที่ร่วมกันลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)