ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงสายของวันที่ 7 ก.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งแน่นเต็มไปด้วยสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ ที่กำลังจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน 

“สุนี ไชยรส” คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า คือหนึ่งในคนที่อยู่ที่นั่น หากแต่เธอไม่ใช่หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ แต่เป็นหนึ่งในประชาชนผู้ทรงเกียรติคนหนึ่งที่ไปเพื่อยื่นหนังสือและทวงถามถึงความใส่ใจของรัฐบาลชุดใหม่ ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (กค.) ในเรื่อง “แนวนโยบายสวัสดิการของเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ ในประเทศไทยทุกคน” 

ภายหลังจากเธอเห็นว่าเนื้อหาในร่างเอกสารคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีการบรรจุเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการผลักดันสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กชุมชนใกล้บ้านอยู่ในนั้นเลย 

ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้เธอต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้ แต่เป็นอีกครั้งจากการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างหนักตลอด 9 ปี เพื่อเปลี่ยน ‘การสงเคราะห์เด็ก’ ให้เป็น ‘สิทธิสวัสดิการ’ อย่าง ‘ถ้วนหน้าและยั่งยืน’ ซึ่งพบกับความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า

แน่นอนว่าถ้าต้องผิดหวังอีกครั้ง สุนี และคณะทำงาน ก็จะยังผลักดันเรื่องนี้ต่ออย่าง ‘ไม่ยอมแพ้’  เพราะตลอดเวลาที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มานั้น ไม่ใช่ ‘ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า’ แต่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ แม้จะมีขวากหนามเต็มไปหมดก็ตาม 

ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การยื่นหนังสือเพื่อทวงถามของสุนี ได้ทำให้สังคมหันมามองถึงสิทธิสวัสดิการเด็กเล็กอีกครั้ง หลังก่อนหน้า อาจวุ่นไปกับความร้อนแรงทางการเมือง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จนหลงลืมว่า เด็กเล็ก อันเป็นทรัพยากรของประเทศในอนาคต ก็ควรได้รับการดูแลอย่างดีด้วยเช่นกัน 

“The Coverage” จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับ “สุนี” ถึงเส้นทางการผลักดันเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา และเป้าหมายที่เธออยากให้ประเทศไทยไปให้ถึง

สุนี ย้อนความทรงจำว่า นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ยกระดับตัวเลขเงินอุดหนุนจาก 300 บาทต่อเดือน กับเด็ก 0-3 ขวบ ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 3.6 หมื่นบาทต่อปี มาเป็น 600 บาทต่อเดือน และขยายฐานะการเงินของครอบครัวที่ให้เฉพาะรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีเพื่อให้ครอบคลุมเด็กได้มากขึ้น 

จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่เกือบทำให้การขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ และใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า 'เส้นชัย' มากที่สุด คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 

ครั้งนั้น คณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และมอบหมายให้ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาทำหน้าที่แทน มีมติให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 0-6 ขวบทุกคนๆ ละ 600 บาทต่อเดือน และมอบหมายให้ พม. นำมติเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น เพื่อให้เห็นชอบและดำเนินการ 

แต่แล้ว พอถึงวันนั้นกลับไม่มีมติของ กดยช. เข้าสู่ที่ประชุม ครม.

4

"เราถามไปกับท่านจุติ ก็บอกว่า พม. ไม่มีเงิน รัฐบาลก็ไม่มีเงินจะไปจัดสรรให้เด็กได้ขนาดนั้น เราก็งงเลย แล้วมติ กดยช. ที่เห็นชอบแล้วว่าเงินสำหรับเด็กมันจำเป็นจริงๆ มาได้ไง” สุนี บอกด้วยเสียงสั่นเครือ “อีกอย่างยังบอกด้วยว่า เงินอุดหนุนเด็กเล็กไม่ควรแยกฐานะ เพราะการแยกฐานะพ่อแม่เพื่อพิสูจน์ความจน มันทำให้เด็กยากจนตกหล่นไม่เข้าระบบมากถึง 30% เด็กพวกนี้ลำบากมาก แต่เขาตอบแบบกำปั้นทุบดิน ว่าไม่มีเงิน ถ้าไม่มีเงินแล้วจะมีมติเห็นชอบสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าไปทำไม" 

สุนี ขยายความว่า หากมองว่าไม่มีงบประมาณ แล้วมติที่จะให้จัดสรรสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อคนเป็นรัฐมนตรีก็นั่งพิจารณาอยู่ด้วย และเห็นชอบตรงกันกับทุกคน แต่แล้วพอเรื่องเข้าครม. กลับไม่เป็นอย่างที่ตกลงกัน  

เงินอุดหนุนต้องถ้วนหน้า อย่างน้อย 3 พันต่อเดือน

แต่ความผิดหวังครั้งใหญ่ครั้งนั้นที่ สุนี และทีมงาน เผชิญ ไม่ได้ฉุดพวกเขาเอาไว้ ตรงกันข้าม พวกเขาเลือกเดินหน้าต่อเพื่อให้เด็กเล็กทั่วประเทศ มีสิทธิสวัสิการอย่างที่ควรจะได้รับ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคม 

จากข้อเสนอให้เด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทต่อคนต่อเดือน สุนี ขยับเพดานการขับเคลื่อนไปสู่สวัสดิการให้เด็กเล็ก 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน และเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับปัจจุบัน 

สุนี เล่าว่า นั่นเพราะข้อมูลจากภาควิชาการ ที่สะท้อนออกมาว่า การอยู่ได้ในสังคมเราทุกวันนี้ อย่างน้อยเลยต้องมี 3,000 บาทต่อเดือน เด็กเล็กก็สำคัญเช่นกันที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่เป็นปู่ย่าตายาย ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู และประเด็นำสำคัญคือต้องให้อย่างถ้วนหน้า เพื่อไม่ต้องมาพิสูจน์ความยากจนกันอีก 

ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ขวบคนละ 600 บาทต่อคนต่อเดือน โดยพิจารณาจากรายได้พ่อแม่ที่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี แต่การพิสูจน์ฐานะความยากจนมีความยุ่งยากเกินไป ต้องมีการรับรองจากข้าราชการ หน่วยงานรัฐ ทำให้คนที่มีรายได้น้อยหลายครอบครัวมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และมีขั้นตอน ซึ่งก็ส่งผลให้เด็กที่ต้องเข้าถึงสิทธินี้กว่า 30% ตกหล่นไป 

"เด็กเล็กทั่วประเทศมีอยู่ 4.3 ล้านคน แต่เข้าถึงสิทธินี้แค่ 2.2 ล้านคน และมีอีกถึง 30% ที่ตกหล่นหายไป ที่เหลือเป็นเด็กที่พ่อแม่พอมีฐานะหน่อย แต่ก็แค่มากกว่าเส้นแบ่งรายได้ที่กำหนดเอาไว้นิดหน่อยแค่นั้น ส่วนเด็กคนอื่นๆ ที่พ่อแม่มีฐานะก็อาจมีโอกาสที่มากกว่า แต่สำหรับพื้นฐานการพัฒนาเด็กเพื่อให้เข้าถึงการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างเท่าเทียม รัฐบาลควรอุดหนุนเท่ากันทั้งหมด และตัวเลข 3,000 บาทถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว และไม่ใช่แค่เราคิดคนเดียว แต่พรรคการเมืองก็เห็นด้วยเช่นกัน" สุนี กล่าว

ช่วงเวลาการขับเคลื่อน สุนี อาศัยช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เชิญบรรดาพรรคการเมืองมาร่วมวงเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างนโยบายสาธารณะ ที่เป็นสวัสดิการสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้า หลายพรรคเห็นชอบด้วย และพร้อมหนุนอย่างเต็มที่ บางพรรคดูแววตาก็รู้ว่าเห็นด้วยเพราะแรงสังคม บางพรรคมองตากันก็รู้ว่าไม่เอาจริง แต่ด้วยพลังทางการเมือง สุนีย้ำว่าเธอต้องใช้ทุกโอกาสที่มี เพราะรัฐบาลเก่าไม่สามารถหวังได้แล้ว รัฐบาลใหม่คือความหวังครั้งต่อไป  

"หลายพรรคการเมืองเอาด้วย กับตัวเลข 3,000 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นตอนนี้คือ พรรคที่เห็นด้วยกับเรา จริงจังกับเรา พวกเขาไปเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพรรคที่เป็นรัฐบาล และเคยเห็นด้วยกับเรา ก็บอกว่าตอนนี้ไม่มีเวลา มีเรื่องเงินหมื่นบาทดิจิทัลที่ต้องเร่ง เรื่องเด็กเอาไว้เฟสสองแล้วกัน" สุนี บอกเจือด้วยเสียงหัวเราะ 

2

รัฐควรหนุน สถานรับเลี้ยงเด็กใกล้บ้าน

นอกจากเงินสวัสดิการถ้วนหน้า 3,000 บาทสำหรับเด็กเล็ก สุนี ยังพร้อมจะขับเคลื่อนจากภาคประชาชน ให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่เมืองใหญ่ และให้หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับการอุดหนุน และสนับสนุนสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กในชุมชนให้มากกว่านี้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลเด็กเล็กได้อย่างมาก ในขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและลูกน้อย 

สุนี ให้ภาพว่า อยากเห็นสถานรับเลี้ยงเด็กของชุมชนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากขึ้น และขอให้รับเด็กได้ตั้งแต่ 1 ขวบไปถึง 3 ขวบ พร้อมกับมีเวลาเปิด-ปิดในชุมชนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พ่อแม่โดยเฉพาะคนในชุมชน ที่ฐานะยากจน หรือแม้แต่เด็กบางคนที่ฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้หลายคนก็ต้องทำงานเลี้ยงชีพเช่นกัน ก็เพราะความยากจนนี่แหละ การยืดหยุ่นเวลาไปรับเด็กได้ จะช่วยพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงานได้อย่างมาก 

"เด็กหลายคนที่พ่อแม่มีเงินก็รอดไป เข้าโรงเรียนอนุบาลของเอกชนได้ ใครไม่มีเงินก็เข้าไปฝากกับสถานสงเคราะห์เด็กต่างๆ ฝากไว้ก่อนค่อยมารับ หรือจนหน่อยก็ต้องหาในชุมชนที่เป็นสถานที่รับเลี้ยงพอฝากไว้ได้ เลี้ยงดีบ้างไม่ดีบ้างก็ต้องว่ากันไป แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีน้ำใจรับเด็กเอาไว้ดูแล เราจึงอยากเห็นภาครัฐมาสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะคนในชุมชนที่มีลูกต้องเลี้ยง มันลำบากจริงๆ" สุนี อธิบาย

สุนี กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญของประเทศ เพราะการลงทุนกับเด็กจะได้รับผลตอบลัพธ์กลับมาที่มีค่ามากในอนาคต หากเด็กทั้งหมดที่เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ ได้รับการดูแลอย่างที่ดี มีคุณภาพ และมีความเท่าเทียม โดยภาครัฐอุดหนุนและสนับสนุนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจหวังผลสำเร็จชนิดพลิกฝ่ามือ แต่อย่างน้อยรัฐบาลชุดใหม่ต้องใส่ใจ และต้องเริ่มดำเนินการเรื่องนี้แบบก้าวทีละก้าว ไปอย่างช้าๆ ก็ได้ แต่อย่างไรก็ต้องเริ่ม 

รัฐไม่ช่วย ระบบไม่เอื้อ คนไม่อยากมีลูก

บนสถานการณ์การเกิดของประชากรที่ประเทศไทยกำลังมีปัญหาอย่างหนัก อีกทั้งยังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และพร้อมจะก้าวไปสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า การวางระบบสวัสดิการเพื่อดูแลเด็กเล็ก อันเป็นทรัพยากรของประเทศที่สำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ได้ รัฐบาลก็ต้องดูแลเด็กให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามความคิดของสุนี 

2

เธอบอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สร้างระบบ หรือไม่มีสวัสดิการที่ยั่งยืนพอที่จะช่วยให้คนไทยอยากจะมีลูกเลย เมื่อมีระบบที่ช่วยดูแลเด็กจากภาครัฐ ก็ยังมีช่องโหว่อีกเพียบ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็รับรู้ถึงปัญหานี้ดีที่มีเด็กตกหล่นไม่ได้รับสิทธิ์อีกจำนวนมาก แต่พวกเขาเลือกที่จะปิดตาข้างเดียว และเลือกทางออกด้วยการผลักภาระให้กับพ่อแม่ของเด็ก พร้อมกับเหตุผลว่า พวกเขาต้องเลี้ยงดูลูกตัวเองด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐอย่างเดียว 

"แม้แต่คนรวยก็ไม่อยากมีลูก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ข้าราชการก็เหมือนกัน มีได้ไหมก็มีได้ แต่ก็เลี้ยงได้แบบถูไถกันไป เบียดกันไปบ้าง เราอยู่กับระบบแบบนี้ และสถานการณ์ทางสังคมมันบีบให้เราเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็เจอปัญหาว่าเด็กเกิดน้อย ตามมาด้วยการกระตุ้นให้คนมีลูก แต่ไม่มีระบบอะไรที่มาช่วยส่งเสริมให้พวกเขาอยากมีลูกเลย" สุนี เสริม

สุนี กล่าวว่า ปัญหาสวัสดิการของเด็กมันจึงเป็นเหมือนกับปัญหาที่ฝังรากลึก ควบรวมไปกับความคิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ยังคิดว่าการช่วยเหลือคือการสงเคราะห์ มากกว่าการผลักดันให้เป็นสวัสดิการที่มีความยั่งยืน มันเป็นระบบความคิดของราชการที่ผิดแผก อ้างแต่ระเบียบและไม่มีงบประมาณ ซึ่งไม่แม้แต่จะหาทางเกลี่ยงบประมาณมาเพื่อเด็ก สิ่งนี้สะท้อนได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล 'มองเห็นเด็ก' เป็นแบบไหน 

"เงินมันมีแน่ถ้าจะให้เด็ก อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนกรอบความคิดได้มั้ย ถ้าบอกว่าไม่มีเงิน มันก็ไม่มีทางที่จะมีเงินหรอก หรือคิดแค่ว่าช่วยได้แค่นี้แหละ จะดีจะชั่วอย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องของสังคมที่จะขัดเกลาเอากันเอง แต่รัฐบาลนี้เราก็ต้องลุ้นกันต่อ เพราะเขาบอกว่าจะดูให้ในเฟสสอง แต่เฟสแรกของรัฐบาลเขาขอทำเรื่องเงิน 1 หมื่นบาทดิจิทัลก่อน แต่บอกไว้ก่อนนะ เด็กมันรอไม่ได้ เด็กมันโตขึ้นทุกวัน พ่อแม่ก็ลำบากทุกวัน อยากให้มองนิดว่าอะไรที่มันสำคัญกว่า" สุนี ฝากไปถึงรัฐบาล