ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ถ้าจะไปหาหมอในอำเภอ อย่างน้อยเลยต้องมี 1,200 บาท" 

คำพูดที่บ่งบอกถึง "ความเป็นจริง" จากผู้นำชุมชนที่สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้คนที่ “ไม่มีแผ่นดินอยู่” 

นี่ไม่ใช่การเล่นโวหาร แต่พวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแผ่นดิน ที่เป็นดินจริงๆ ในการอยู่อาศัย 

เพราะบ้านเรือนของชุมชนดังกล่าวในหมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ของ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่เรียงรายอยู่กว่า 800 ครัวเรือน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 2,400-3,000 คน ตั้งอยู่บน “ผิวน้ำ” ของปากน้ำบ่อเวฬุ ประตูสู่อ่าวไทย อันถูกเรียกขานว่าเป็น "หมู่บ้านไร้แผ่นดิน" ซึ่งมีอายุมากกว่า 150 ปีแล้ว

สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เมื่อก่อนเวลาชาวบ้านในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย ถึงขนาดที่ว่า “ต้องไปเจอหมอ” โอกาสเดียวคือ “จ้างเรือยนต์” ในชุมชน เข้าไปยังตัว อ.ขลุง เพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลขลุง โรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้ที่สุด ซึ่งอยู่บนฝั่งห่างไป 14 กิโลเมตร โดยต้องใช้ระยะเวลาเดินทางบนเรืออย่างต่ำๆ 40 นาที แถมต้องมีเงินในมืออีกอย่างน้อย 1,200 บาท เป็นค่าเรือ  

1

แม้ว่าพอไปถึงโรงพยาบาล พวกเขาเองจะมีสิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา (หรืออย่างมากคือเสีย 30 บาท) แต่ค่าใช้จ่ายแฝงที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ โดยเฉพาะค่าเดินทาง กับสร้างความทุกข์ยากให้กับคนป่วยและญาติอย่างน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวในพื้นที่แห่งนี้เริ่มได้รับการคลี่คลายออกไปแล้ว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยบริการในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลขลุง ที่เป็นโรงพยาบาลอำเภอเป็นแม่ข่าย โดยมีเครือข่ายคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 4 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอขลุง (สสจ.) และหน่วยงานท้องถิ่น 

บนเป้าหมายร่วมกัน 5 ข้อ ในการให้บริการสุขภาพแนวใหม่ผ่านการใช้ “การแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) โดยประกอบด้วย 1. ให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดเรื้อรัง (NCDs) และผู้ป่วยนอก ได้รับการตรวจและคำแนะนำจากแพทย์ 2. ลดการส่งต่อ 3. ลดค่าใช้จ่าย เวลาที่ผู้ป่วย-ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ต้องเดินทาง 4. ลดความเสี่ยงติดโควิด-19 และ 5. ลดจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาล 

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากเกิดความร่วมมือ คือ ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยอาการเล็กน้อย และ โรค NCDs แค่เดินจากบ้านไปยัง รพ.สต.บางชัน สถานพยาบาลปฐมภูมิแห่งเดียวบนผิวน้ำแห่งนี้ ที่ร่วมเป็นเครือข่ายการให้บริการสุขภาพแนวใหม่ ก็สามารถรับบริการได้แล้ว

3

ด้วยระบบเทเลเมดิซีน จากทีมแพทย์ของโรงพยาบาลขลุง ซึ่งมีความพร้อมทั้งระบบส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่มีความเสถียร บวกกับมีจอโทรทัศน์ขนาดประมาณ 40 นิ้ว สำหรับใช้สื่อสารระหว่างแพทย์-ผู้ป่วยให้เห็นหน้ากันอย่างชัดเจน รวมไปถึงระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยที่เชื่อมต่อกันระหว่างโรงพยาบาลขลุง และ รพ.สต. ตั้งอยู่ในห้องหับมิดชิดมีเครื่องปรับอากาศ 

ทำให้ผ็ป่วยและแพทย์ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเต็มที่เพื่อสอบถามอาการ รักษา และแนะนำข้อปฏิบัติ จากนั้นหากมียาที่ต้องจ่ายให้ ถ้า รพ.สต. มีสต็อกอยู่ก็จ่ายยาตามแผนการรักษาได้ทันที แต่ถ้า รพ.สต. ไม่มียา โรงพยาบาลขลุงก็พร้อมส่งทางไปรษณีย์ หรือทางเรือไปถึง รพ.สต. และให้ อสม. นำไปส่งให้กับผู้ป่วย พร้อมกับคำแนะนำการใช้ยาถึงบ้าน  

นอกจากนี้ ถ้าอาการรุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล จะมีการส่งตัวผ่านทางเรือด่วน หรือหากเตียงเต็ม ก็จะให้เข้าสู่การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน (Home Ward) เหรือการปลี่ยนบ้านเป็นเตียงผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลขลุงมีระบบไว้รองรับ (https://www.thecoverage.info/news/content/5334

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดัน ที่จากเดิมมีอยู่ประมาณ 568 คน ซึ่งอาจไม่ได้รับบริการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายแฝงในการรักษา แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยถึง 154 คน ที่เข้าถึงบริการสะดวกยิ่งขึ้น แถมยังลดการส่งต่อ ที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินค่ารถถึง 1,200 บาทด้วย

นอกจากนี้ในจำนวนดังกล่าวกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ยังลดการใช้ยาลงไปได้ถึง 20% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการหนักกว่ากลุ่มแรก พบว่ามีผู้ป่วยอาการดีขึ้นและเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวถึง 54% อีกทั้งยังมีค่าเบาหวานที่เพิ่มขึ้นแค่เพียง 8% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 

5

ไพรัช แสงสุข ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางชัน บอกกับ “The Coverage” ว่า ผู้ป่วยในชุมชนที่มารับบริการเทเลเมดิซีนจาก รพ.สต.บางชัน ที่เชื่อมระบบไปยังโรงพยาบาลขลุง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเบาหวาน-ความดัน ซึ่งแต่ละคนจะมีแผนสุขภาพส่วนบุคคลที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัว 

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการพบแพทย์ผ่านระบบ ก็จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับความรู้ด้านสุขภาพ การจัดการชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับโรค ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย การพักผ่อน เป็นอาทิ และสำคัญคือผู้ป่วยจะได้รับทราบแนวทางการติดตามอาการของตนเอง เพื่อคอยให้ข้อมูลกับแพทย์เมื่อต้องมาเจอกันผ่านระบบออนไลน์ 

“การให้บริการเทเลเมดิซีน สำหรับหมู่บ้านไร้แผ่นดิน เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างสะดวกผ่านเทคโนโลยี ที่แม้ไม่ได้เจอตัวจริงๆ แต่พูดคุยกันผ่านทางจอทีวี แต่ก็ได้ประสิทธิภาพการรักษาอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ ที่สำคัญคือประหยัดเงินค่าเดินทางจากผิวน้ำไปยังแผ่นดินเพื่อไปหาหมอ” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางชัน กล่าว

มากไปกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หากหมู่บ้านไร้แผ่นดินแห่งนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องรักษาเร่งด่วน จะมีการพัฒนาให้มีระบบส่งตัวผ่านทางอากาศ (Sky Doctor) เข้ามาเสริมการทำงาน เพื่อให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์อย่างเร็วที่สุด 

"เมื่อไปยังฝั่งไม่ได้ มันแพง มันลำบาก เราก็หาหมอทางไกลกัน มันง่ายกว่าเยอะเลย เพียงแค่มาช่วยกันเซ็ทระบบให้เกิดขึ้นจริง และใช้งานได้จริง เพื่อดูแลคนไข้ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล คนในชุมชนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ได้มาใช้ประโยชน์ตรงนี้ร่วมกัน" ไพรัช กล่าวทิ้งท้าย 

2