ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยทรัพยากรที่สำคัญอย่าง “เตียง” ใน “โรงพยาบาลขลุง” โรงพยาบาลประจำอำเภอใน จ.จันทบุรี มีจำกัดเพียง 30 เตียง แถมอัตราครองเตียงยังมากถึง 94% ตลอดทั้งปี ขณะที่ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องรับบริการแบบผู้ป่วยใน (IPD) มีมากกว่า 300 คน 

มากไปกว่านั้นคือ บุคลากรทางการแพทย์ 10 ชีวิตในโรงพยาบาล ยังต้องดูแลรักษาประชาชนกว่า 5.6 หมื่นคนในพื้นที่ ซึ่งกำลังเผชิญกับทั้งสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อีกด้วย

ดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่โรงพยาบาลขลุงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย เพราะไหนจะมีผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และต้องการเตียงเพื่อรักษา ไหนจะบุคลากรที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยทันที 

ทว่า การนั่งจมกับปัญหาไม่ใช่ทางออกแน่ๆ อีกทั้งทีมผู้บริหารโรงพยาบาลขลุงเห็นปัญหานี้มานาน และพยายามหาวิธีแก้ไขมาโดนตลอด 

จนในที่สุดจังหวะดีที่มีโครงการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน (Home Ward) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นการ “ยกโรงพยาบาลไปไว้ที่บ้านผู้ป่วย” กล่าวคือ การจัดบริการแบบ “ผู้ป่วยใน” ให้เกิดขึ้นที่ “บ้านของผู้ป่วย” แทน “เตียงของโรงพยาบาล” ภายใต้มาตรฐานการดูแลที่ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักวิชาชีพที่เทียบเคียงกันได้

1

ขณะเดียวกันทาง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (สปสช.) ก็ได้กำหนดให้ Home ward เป็นรายการที่สามารถเบิกจ่ายได้ด้วย หากเป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

เรียกได้ว่าเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง “ตรงจุด” ดังนั้น โรงพยาบาลขลุง จึงไม่รอช้า และตัดสินใจเลือกเอาวิธีนี้มาดำเนินการในทันที โดยได้จัดทำแผนการทำงานร่วมกันกับ “สำนักงานสาธารณสุขอำเภอขลุง” (สสอ.) ก่อร่างขึ้นเป็น “คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอขลุง” (คปสอ.)

พร้อมกับวางเป้าหมาย Home Ward ที่จะให้บริการกับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่อาการไม่ซับซ้อนมากนัก และเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ ทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานและความดันที่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยไตเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะกลางที่ต้องฟื้นฟู

ดีเดย์วันเริ่มดำเนินการทางโรงพยาบาลได้ประสานกับท้องถิ่น ในการให้เข้าไปช่วยหนุนเสริมงบประมาณปรับปรุงสถานที่บ้านเรือนของผู้ป่วยที่ต้องรับบริการ Home Ward ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ 

จากนั้นจะมีการประสานไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เครือข่ายของโรงพยาบาลขลุง ให้ร่วมทีม 3 หมอ คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน ภายใต้ชื่อทีมว่า “Home Ward Khlung Team”

ทีมนี้จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยตามแผนการรักษา พร้อมทั้งติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมถึงประเมินผลการรักษาของผู้ป่วยร่วมกัน 

ในอีกด้าน ก็จะมีเจ้าหน้าที่คนอื่นของโรงพยาบาลขลุงที่อยู่ในทีมเช่นกัน ซึ่งมีการจำแนกหน้าที่กันอย่างชัดเจนเพื่อร่วมทีม Home Ward ในการดูแลผู้ป่วย  

4

สำหรับรายละเอียด จะมีดังนี้ 1. งานดูแลรักษาพยาบาล จะเป็นของฝ่ายแพทย์ กลุ่มงานพยาบาล กลุ่มงานปฐมภูมิ 2. งานข้อมูลสารสนเทศ ถูกมอบให้ฝ่ายงานประกันของโรงพยาบาลในการรับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูล 3. งานยา อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ  เป็นของฝ่ายเภสัชกรรม 4. การเตรียมผู้ป่วย และญาติ รวมถึงประสานงานญาติ จะเป็นหน้าที่ของกลุ่มงานพยาบาล และ รพ.สต.ในพื้นที่ และ 5. การติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน จะมีการบันทึกข้อมูลอัปเดตผ่านระบบของโรงพยาบาลที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน

ผลที่ตามมาจากการขับเคลื่อนในระยะกว่า 1 ปี คือ ผู้ป่วย 373 คน ที่มีความจำเป็นต้องรับบริการแบบ IPD ที่โรงพยาบาล แต่เตียงเต็ม ก็ได้รับการดูแลรักษาแบบอยู่ที่บ้านอย่างดีมีประสิทธิภาพ โดยในจำนวนดังกล่าวสามารถทำให้หายป่วยได้ถึง 355 คน หรือคิดเป็น 95% อาการไม่ทุเลา 16 คน หรือประมาณ 4.3% และเสียชีวิตเนื่องจากเป็นผู้ป่วยระยะประคับประคอง 2 คน 

มีการเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ถึง 1.5 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพบว่าผู้ป่วยบัตรทองที่ได้ต้องรับบริการแบบ Home Ward แต่ละรายจะมีค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 5,300 บาท

เหล่านี้ได้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาไปให้ความสนใจกับการรักษาที่จำเป็นในโรงพยาบาลขลุงได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เพราะจะมีตารางแจ้งเวลาและการตรวจเยี่ยมนอกพื้นที่สำหรับผู้ป่วยใน ที่รับบริการแบบ Home Ward เพื่อติดตามอาการ อย่างชัดเจน

ปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีภาระงานที่หนักหนาล้นมือแพทย์ และพยาบาลอีกต่อไป ที่สำคัญผู้ป่วยก็ได้รับบริการดีมีคุณภาพเหมือนเดิม แถมยังลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางไปโรงพยาบาลอีกด้วย  

“สิ่งที่ได้รับมากกว่าเงิน คือ ผู้ป่วยได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีการดูแลที่ดีจากวิชาชีพ และสมศักดิ์ศรีของผู้ป่วย” นพ.พรหมมินทร์ ไกรยสินธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขลุง ที่เป็นหัวหน้าทีมดันโปรเจกต์ Home Ward ในพื้นที่ บอกกับ “The Coverage” 

4

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขลุง กล่าวต่อไปว่า Home Ward คือตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวกมากกว่าเดิม และญาติ ครอบครัวของผู้ป่วย ยังมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยได้จากที่บ้านเองไม่จำเป็นต้องมานอนเฝ้าไข้กันเหมือนก่อน 

ในส่วนการรักษา การติดตามอาการป่วยจากทีมแพทย์ก็มีระบบที่ชัดเจน ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยเบาใจ และยังได้ใกล้ชิดกับแพทย์ที่ลงไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามอาการ ได้ดูแลกันใกล้ชิดมากขึ้น 

"เพราะความแออัด ภาระงาน ความเร่งรีบ ไม่ได้มาบดบังพวกเรา (ทีมแพทย์) แล้ว ทำให้มีเวลามากขึ้นในการคุยกับผู้ป่วย Home Ward ได้ใส่ใจสอบถาม และตอบคำถามอย่างใกล้ชิด ขณะที่เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น และเอาไว้รองรับกับเคสที่จำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ดังนั้น Home Ward สำหรับโรงพยาบาลขลุง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยให้เราจัดการบริการสุขภาพได้ดีขึ้น" นพ.พรหมมินทร์ ย้ำ 

ทั้งนี้ ด้วยเป้าหมาย Home Ward ที่จะให้บริการกับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่อาการไม่ซับซ้อนมากดังที่กล่าว หากเจาะจงโรคและอาการที่เหมาะสมกับ Home Ward จึงประกอบไปด้วย โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคแผลกดทับ  โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคปอดอักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันหลังการผ่าตัด และ  โรคโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม จังหวะก้าวต่อไปโครงการ Home Ward ของโรงพยาบาลขลุง ที่เห็นแล้วว่าได้ผลจากการจัดการเบาหวาน และความดันในพื้นที่เป็นอย่างดี จากนี้จะขยับไปสู่การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อไม่ให้มีแผลกดทับ และจะกดตัวเลขนี้ใน อ.ขลุง ให้เป็น 0 ให้ได้เร็วที่สุด