ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมนักวิจัยจากแผนกโรคข้อ ของโรงพยาบาลรอยัล นอร์ทชอร์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสาร British journal of Sports Medicine (BJSM) ที่พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ไม่ได้มีผลช่วยในการรักษา “โรคข้อเข่าเสื่อม” และยังไม่ช่วยให้หายปวดข้อเข่าในระยะยาวได้อีกด้วย 

สำหรับการทดลอง ได้ใช้สารสกัดจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายในท้องตลาดประมาณ 10 ยี่ห้อ ซึ่งผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่เชื่อว่า มีสรรพคุณช่วยข้อเข่าเสื่อม และสะโพกเสื่อม โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้สารสกัดจากธรรมชาติให้มีส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย สารสกัดจากเปลือกเสาวรส สารสกัดขมิ้นชัน สารสกัดจากำยาน สารสกัดจากเปลือกสน

จากนั้นทำการทดลองกับกลุ่มผู้ป่วยจริง โดยใช้ยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวดจากโรคข้อกระดูกเสื่อมเปรียบเทียบกับยาหลอกที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมซึ่งมีสารสกัดดังกล่าว และพบว่า แม้สารต่างๆ จะมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายได้รับสาร แอล-คาร์นิทีน เพื่อช่วยในการดึงไขมันเป็นพลังงานให้ร่างกาย แต่ไม่ได้มีผลในการรักษา หรือช่วยให้อาการเจ็บปวดจากปัญหาข้อกระดูกเสื่อมต่างๆ ลดลงในระยะยาว 

มากไปกว่านั้น งานวิจัยยังตรวจสอบถึงสารสกัดคอลลาเจนต่างๆ ที่อ้างสรรพคุณคล้ายกัน คือการบำรุงเสริมข้อกระดูก และก็พบว่าไม่ช่วยลดอาการเจ็บปวดข้อกระดูกเมื่อมีอาการเสื่อม 

บทสรุปการวิเคราะห์โดยรวบรวมถึงการทดลองทั้งหมด ทีมนักวิจัยได้เผยให้เห็นว่าอาหารเสริมให้ผลการรักษาในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่มือ สะโพก หรือข้อเข่าเสื่อมในระยะสั้น หรืออาจเรียกได้ว่าลดอาการเจ็บปวดระยะสั้นได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถลดอาการเจ็บปวดระยะยาวได้ 

นอกจากนี้ สถานการณ์ข้อเข่าเสื่อม และกระดูกข้อต่อเสื่อมในปัจจุบันพบได้ส่วนใหญ่ในวัยสูงอายุ ซึ่งมีประชากรถึง 12% ของผู้สูงอายุที่มีโอกาสจะข้อเข่า หรือกระดูกข้อต่อเสื่อม ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าสนใจ คือ โรคข้อเข่าเสื่อมยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยรัฐบาลอาจต้องทุ่มงบประมาณถึง 0.25-0.50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพื่อดูแลโรคนี้โดยตรงให้กับประชากร หรือหากคิดเป็นมูลค่าการดูแลจะอยู่ประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.1 แสนบาทต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 1 คน 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยาพาราเซตามอล รวมถึงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สารสเตียรอยด์ ได้รับการรับรองการรักษาจากสถาบันการรับรองต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้บรรเทาอาการเมื่อเจ็บปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายและอ้างสรรพคุณช่วยในการรักษา และลดอาการเจ็บปวดได้ ซึ่งมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่ามีผู้ป่วยถึง 69% เลือกใช้อาหารเสริมเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม 

ด้วยตัวเลขผู้ป่วยที่เลือกใช้อาหารเสริมในการรักษาอาการมากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดอาหารเสริมสูงขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.5 แสนล้านบาทต่อปี

กระนั้น แม้ผู้ป่วยจะเลือกใช้อาหารเสริมอย่างแพร่หลาย แต่ทีมนักวิจัยสะท้อนว่า ในแง่ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ 'ยังไม่ชัดเจน' สำหรับการใช้เพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากตามหลักแล้ว อาหารเสริมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากใช้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น 

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ :
https://bjsm.bmj.com/content/52/3/167.long