ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศใช้นโยบาย “มะเร็งรักษาทุกที่” (Cancer Anywhere) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค) เข้าถึงการรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้ “ใบส่งตัว”

ข้อมูลล่าสุดจาก สปสช. ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งถึง 265,731 คน และหากนับเป็นจำนวนครั้งที่รับบริการก็มากถึง  2,704,244 ครั้ง 

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้เห็นถึงประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของนโยบาย แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีนโยบายใดที่จะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด ซึ่ง สปสช. ก็ได้มุ่งพัฒนาให้บริการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านกลไกที่สำคัญอย่างการสร้างการมีส่วนร่วม

ดังนั้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 จึงได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงจัดเสวนาหัวข้อ “2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกำหนดทิศทางของบริการให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการอย่างยั่งยืน

4

นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่เป็นนโยบายที่ดี ทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษามากขึ้น แต่การรักษามะเร็งจะสำเร็จได้ต้องมีการให้ความสำคัญกับระบบที่ซ่อนอยู่คือ ระบบพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง (Cancer Nurse Coordinator) ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ. กำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าขณะนี้ระบบยังไม่ยั่งยืน เนื่องจากพยาบาลมีหน้าที่ค่อนข้างมากและมีการเปลี่ยนคนไปมาเสมอ ฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับระบบนี้ให้ดี เพราะหากระบบเกิดพังขึ้นมา ผู้ป่วยก็จะต้องกลับมารับใบส่งตัวเช่นเดิม

นพ.ธีระชัย กล่าวอีกว่า ในฐานะของผู้ปฏิบัติงานมองว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นก็คือ การลงทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้ข้อมูลจากระบบบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลการบริการทางการแพทย์ (e-Claim)   ปัญหาคือ เมื่อโรงพยาบาลเบิกค่าบริการจาก e-Claim ได้ จึงทำให้เห็นแต่ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่เห็นสถานการณ์โดยรวมที่แท้จริงของผู้ป่วย 

ขณะเดียวกัน บางโรงพยาบาลก็ไม่เคยเบิกเงินผ่านระบบ Cancer Anywhere เลย เนื่องจากผู้ที่ทำการเบิกจ่ายไม่เข้าใจว่าในช่องเบิกจ่ายมีช่องของ Cancer Anywhere รวมอยู่ด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่ สปสช. เขตควรจะเห็นและรีบตรวจสอบ

2

นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อํานวยการด้านการแพทย์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า สิ่งที่อยากจะให้ สปสช. เพิ่มเติมมากขึ้นคือ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหลายๆ ครั้งหน่วยบริการที่รักษาโรคมะเร็งและเจ้าหน้าที่ไม่รับรู้ถึงนโยบาย ทั้งยังปฏิเสธที่จะรับรู้นโยบาย และยังทำให้ผู้ป่วยกลับไปขอใบส่งตัวเช่นเดิมด้วย

รวมไปถึงการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ เพราะจะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องการรับซื้อเครื่องมือราคาแพงได้ ซึ่งจริงๆ หลายที่มีทรัพยากรที่กระจายตัวอยู่ แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่เข้าถึงหรือหน่วยบริการไม่แนะนำให้ไป และหากสามารถทำให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมด้วยได้ก็น่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้น

ผศ.พญ.จารุวรรณ เอกวัลลภ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย บอกว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงยังมีหลายจุดที่คิดว่าน่าจะต้องมีการพัฒนา เช่น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้ว ความเป็นจริงผู้ป่วยสามารถกลับไปรับยาที่ศูนย์ใกล้บ้านได้ แต่บางครั้งพบว่าผู้ป่วยไม่ยอมกลับไป ซึ่งทำให้เกิดภาระงานที่มากขึ้นในโรงพยาบาล จนเกิดผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย และเป็นสาเหตุที่แม้จะมีการรับบุคลากรเพิ่มเข้ามามากขึ้นแต่จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ผศ.พญ.จารุวรรณ เสนอว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจว่าหลังจากการรักษาและพูดคุยกับแพทย์แล้ว เมื่อมีการแนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่ศูนย์มะเร็งใกล้บ้านผู้ป่วยก็ควรที่จะกลับไปตามคำแนะนำ เนื่องจากปัจจุบันมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยได้มีความพยายามในการผลิตบุคลากรเพื่อออกไปดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์กลับพบว่าผู้ป่วยยังคงมีการเข้ามารักษาที่ส่วนกลางค่อนข้างมาก 

พล.ท.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ประธานชมรมศัลยแพทย์มะเร็งประเทศไทย กล่าวว่า หาก สปสช. มีความต้องการพัฒนาให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายมากขึ้นควรจะมีการลงทุนทางด้านศัลยกรรมมากขึ้น แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการกล่าวถึงค่าใช้จ่ายด้านศัลยกรรมมากเท่าใดนัก อีกทั้งในประเทศไทยมีศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งที่มีใบรับรองเพียงกว่า 100 ราย และมีกำลังผลิตเพียง 8-10 รายต่อปี

อีกทั้งเมื่อบอกว่ามะเร็งรักษาทุกที่ หากเป็นประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไปหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยอยากจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองก็มักจะไปที่โรงเรียนแพทย์ที่คิดว่าดีสำหรับเขา ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผู้ป่วย ทำให้แทนที่จะมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น การที่ผู้ป่วยกระจุกตัวทำให้คิวในการรักษายาวขึ้นไปอีกทำให้ส่งผลต่อการรักษา

4

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้แทนสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้คืออยากลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการที่คิวยาว ไปสู่หน่วยบริการที่คิวสั้น และช่วยผู้ป่วยที่รักษาข้ามเขตไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งจะมีโปรแกรมที่ทำงานร่วมกัน 3 ตัว คือ โปรแกรม Thai Cancer Base โปรแกรม The One และโปรแกรม Cancer Anywhere สำหรับประชาชน 

ทว่า ปัจจุบันหน่วยบริการใช้ยังใช้ประโยชน์จากโปรแกรมไม่ครบถ้วนตามแผนที่วางไว้ ซึ่งถ้าโรงพยาบาลใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้คล่อง ก็จะช่วยบอกผู้ป่วยได้ว่าคิวที่โรงพยาบาลไหนสั้นกว่า เช่น ศิริราชอาจบอกว่าคิวที่ชลบุรีสั้นกว่า ถ้าศิริราชรอ 6 เดือน ที่ชลบุรีรอ 2 เดือน ผู้ป่วยจะเลือกไปที่ชลบุรีหรือ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการช่วยเหลือประชาชนได้จริง

2

นพ.เพชร อลิสานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภาการชาดไทย ผู้แทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายนี้มีข้อดีคือผู้ป่วยเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ส่วนปัญหาที่เจอก็คือ การกระจายตัวของผู้ป่วยที่มากระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และระบบ cancer nurse coordinator ก็ทำให้ภาระงานในส่วนของพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งหวังว่าในอนาคต สปสช. จะเข้ามาช่วยในส่วนของการจัดการข้อมูลระบบสาธารณสุขเพื่อให้จัดการข้อมูลง่ายและเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

“คนไข้มะเร็งไม่ได้ป่วยเฉพาะแค่มะเร็ง ในโรงพยาบาลที่มีการรักษาครบถ้วนจึงเป็นเป้าหมายที่คนไข้ต้องการมา ซึ่ง สปสช. ต้องเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดว่าเขาจะได้รับการดูแลดีที่สุด และให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการว่าเมื่อให้บริการแล้ว จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกลับมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าทำ 2 ขานี้ได้ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายจะไม่มีปัญหา” นพ.เพชร ระบุ

3

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และชีวาภิบาล (เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม) กล่าวว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการการรักษา จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเพียงพอแล้ว เข้าใจสัจธรรม และเลือกที่จะรับการดูแลระยะสุดท้ายเพื่อเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน และผู้ป่วยแบบนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี 

อีกทั้งมีบางส่วนที่เข้ารับการรักษาแล้วทนความเจ็บปวดไม่ไหว ก็ขอรับบริการ palliative care ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นถ้ามีโอกาสให้คำปรึกษาแนะนำกับครอบครัวตั้งแต่ทราบผลการวินิจฉัย นำเสนอคุณภาพชีวิตและการอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ เชื่อว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เลือกสิ่งนี้ทันที และจะช่วยจำนวนคนไข้ในระบบลงได้