ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทิศทางของ ‘อุตสาหกรรมยา’ เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่ก้าวหน้าทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

มีโรคจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงโรคเดิมๆ ที่ในอดีตยังรักษาไม่ได้ พบว่าการแพทย์ปัจจุบันสามารถต่อกร-ตอบโต้ กับสิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น

หากส่องกล้องเข้าไปที่ ‘บริษัทยา’ ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือ ‘ธุรกิจ-อุตสาหกรรม’ ที่ต้องการกำไร ฐานคิดจึงต้องตั้งต้นจาก ‘ลูกค้า’ ซึ่งหมายถึงโรคที่มีคนป่วยมากๆ  หรือมีลูกค้ามากๆ

เมื่อการผลิตยา 1 ชนิด จำเป็นต้องมีการลงทุนมหาศาล แต่หากสามารถขายได้มากๆ ราคาต่อหน่วยก็จะถูกลงตามกลไก จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้ ‘ผู้ป่วยด้วยโรคไม่ฮิต’ จะต้องซื้อยาราคาแพงมาก

แพงถึงขั้นที่ว่า เห็นโอกาสการรักษาอยู่ตรงหน้า หรือเห็นโอกาสในการต่อลมหายใจให้คนรัก ทว่าถึงขายทรัพย์สมบัติจนสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงยา

ถ้ายังไม่เห็นภาพ เราขอยกตัวอย่างยารักษาโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ทุกวันนี้มียาที่ฉีดเข้าไปแล้วสามารถหายขาดจากโรคนี้เลย สนนราคาอยู่ที่เข็มละ 120 ล้านบาท

นี่คือราคาของการมีชีวิตอยู่ และต้องมีเงินเท่านั้น ถึงจะสามารถซื้อชีวิตได้ !!?

“The Coverage” พูดคุยเรื่องนี้กับ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เพื่อแสวงหาทางเลือก-ความเป็นไปได้ ในการ ‘เพิ่มการเข้าถึงยา’ ราคาแพง ให้กับคนไทย

แน่นอน HITAP มีข้อเสนอที่น่าสนใจ จับต้องได้จริง ที่สำคัญคือจะไม่สร้างภาระต่อระบบสุขภาพ

บรรทัดถัดจากนี้คือความหวังของประชาชนคนไทย ซึ่งที่สุดแล้วจะเกิดได้จริงหรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้กำหนดนโยบาย

1

ถนนทุกสายวิ่งสู่ ยาเฉพาะบุคคล

อนาคตราคายาจะสูงขึ้นกว่านี้มาก คือประโยคเปิดของ ดร.นพ.ยศ ซึ่งสวนทางกับความคิดของเรา ที่คิดว่า ยาควรจะต้องถูกลงเรื่อยๆ 

ดร.นพ.ยศ อธิบายว่า ยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยในปัจจุบัน มักเป็นยาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ผลการรักษามีทั้งดีและไม่ดี เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน แต่ก็มีรายละเอียดของโรคที่แตกต่างกัน 

ฉะนั้นจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากขึ้นบริษัทจะพยายามพัฒนา “ยาเฉพาะบุคคล” ซึ่งจะเป็นยาตัวใหม่ที่ยาตัวเดิมรักษาไม่ค่อยได้ผล เช่น ยาที่ไปแก้ปัญหาทางพันธุกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการหรือโรคมากกว่า

“เมื่อ 2 ปีก่อนมียาที่รักษาโรคเกี่ยวกับพันธุกรรมออกมา โดยตัวยาจะเข้าไปจัดการกับพันธุกรรมในร่างกายที่มีปัญหาทำให้ช่วยรักษาโรคให้หายขาดได้ ยาตัวนี้มีราคาอยู่ที่ 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 75 ล้านบาท หรือก็คือเป็นยาที่ราคาแพงที่สุดในโลกในขณะนั้น

“คล้อยหลังแค่ 1 ปี หรือปีก่อนนี้เอง มียาที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรักษาโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่ประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยโรคนี้นับพันนับหมื่นคน และบริษัทยาก็ได้ผลิตยารักษาขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าฉีดยาตัวนี้เข้าไปก็จะหายจากโรคได้เลย แต่ยามีราคาถึงเข็มละ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 120 ล้านบาท” ดร.นพ.ยศ ยกตัวอย่าง

แน่นอนต่อให้ผู้ป่วยอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างดี หรือฐานะร่ำรวยก็เข้าถึงยาตัวนี้ไม่ได้ ไม่มีใครจ่ายไหว 

"บริษัทยาต้องการขายยาใหม่ ก็ต้องขายยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่าตลาดยาแต่ละตัวจะเล็กลงมาก แต่บริษัทยังอยากมีกำไรเท่าเดิม ทำให้ยาในอนาคตจะมีราคาแพงมากขึ้นจนเราจินตนาการไม่ถึง" เขาย้ำ 

2

แพงแต่เป็นทางเลือกเดียวที่ต้องใช้

แม้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมาพร้อมกับราคาที่แพงขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายาบางตัวอาจเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้ป่วย 

สำหรับประเทศไทย มีการบรรจุยาราคาแพงหลายรายการลงใน ‘บัญชียาหลักแห่งชาติ’ ซึ่งผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็มีเงื่อนไขกำหนด

นั่นเพราะ ยาราคาแพงส่วนใหญ่ ‘ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์’ หรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาล 

ดร.นพ.ยศ ขยายความว่า เกณฑ์ความคุ้มค่าที่ใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกยาเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะประเมินที่ 1.6 แสนบาท/ปีสุขภาวะของคนไทย ซึ่งหากเกินกว่าเกณฑ์นี้จะถือว่าไม่มีความคุ้มค่า แต่หากเกินเกณฑ์ประเมินก็ให้เลือกยาบางอย่างที่น่าสนใจไปต่อรองราคา หากทำได้ก็จะบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับยาใหม่ราคาแพงมากที่กล่าวถึงข้างต้น แทบจะไม่มีทางผ่านการประเมินความคุ้มค่าได้เลย และหากรัฐบาลไม่สนับสนุน ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงยาเหล่านั้นได้ ทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่อาจเป็นทางเลือกเดียวของผู้ป่วย

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลใหม่ในการพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างทำให้ระบบสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน ไม่เป็นภาระด้านภาษีกับประชาชนมากเกินไป กับการทำให้ผู้ป่วยหนักสามารถเข้าถึงยาที่เป็นหนทางเดียวในการช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นได้

“แน่นอนว่ายาที่ถูกยกตัวอย่างก่อนหน้านี้จะไม่ถูกนำมาใช้งานเพราะมีราคาที่สูงกว่าหลายเท่า ไม่มีทางที่จะถูกประเมินว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องบาลานซ์ ไม่เอาแต่ถูกและคุ้มค่า หรือเอายาที่ราคาแพงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ที่ใช้ยาอย่างคุ้มค่าได้อย่างสมดุล บางโรคที่ยาเดิมไม่ตอบสนองกับผู้ป่วย ก็ต้องจัดหาเพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน” ดร.นพ.ยศ กล่าว 

นี่คือข้อเสนอที่เป็นไปได้ของ HITAP

อย่างที่กล่าว ทุกวันนี้ประเทศไทยมีกลไก ‘บัญชียาหลักแห่งชาติ’ และมีบัญชียาที่เรียกว่า จ (2) ซึ่งเป็นราคายาราคาแพงที่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) สามารถใช้ได้ 

ทว่าที่ผ่านมา ยาที่จะเข้าสู่บัญชี จ (2) ได้นั้น จะต้อง ‘ผ่าน’ การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน ซึ่งในส่วนของ ‘ยาที่จำเป็น แต่ไม่มีความคุ้มค่า’ ทุกวันนี้ยังไม่มีกลไกรองรับ หรือเรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะเข้าถึงได้

นั่นคือปัญหาและโจทย์การวิจัยที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมมือกับ คณะผู้วิจัยจาก HITAP ซึ่ง ดร.นพ.ยศ เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้ร่วมกันทำการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเบิกจ่ายสำหรับมาตรการที่มีราคาแพงในระบบสุขภาพภาครัฐของประเทศไทย” ขึ้นมา 

3

สำหรับสรุปข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า จากการทบทวนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ล้วนแต่มีช่องทางในการนำยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ทั้งนั้น ซึ่งจะการเลือกโดยพิจารณายาที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วยในประเทศให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือช่วยชีวิตได้ 

ที่สำคัญคือด้วยศักยภาพของประเทศไทยสามารถก็ทำแบบนั้นได้เช่นกัน หากเพิ่มช่องทาง หรือกลไกที่สามารถพิจารณายาที่มีราคาแพงเพื่อนำมาใช้ได้

นอกจากนี้ เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังพบอีกว่าส่วนใหญ่อยากให้มียาราคาแพงที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาอยู่ในบัญชียาหลัก แต่ต้องมีเกณฑ์พิจารณาสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. เป็นยาที่ช่วยชีวิต และยืดชีวิตได้อีกนาน แต่หากไม่ได้รับยาจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน และ 2. ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการรักษาแล้ว และต้องใช้ยาชนิดนี้เท่านั้น 

"เมื่อมีเกณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อเปิดช่องทางให้มียาราคาแพงเข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักฯ ได้ โดยมีข้อมูลจากการประเมินเทคโนโลยีในการนำไปต่อรองกับบริษัทยาเพื่อให้ได้ยาที่ราคาดีที่สุด ก็จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกมาก และจะได้ยาที่มีความจำเป็นและคุ้มค่าต่อการรักษาผู้ป่วย รวมไปถึงเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาราคาแพงได้อย่างเท่าเทียม และจะเกิดแรงจูงใจในการทำนวัตกรรมสุขภาพของประเทศได้ต่อไปในอนาคต" ดร.นพ.ยศ ย้ำ

สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัย 1. ควรมีการบรรจุยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าฯ ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยใช้ความรุนแรงของโรคและทางเลือกอื่นในการรักษาเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา และดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส และอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนทางการคลังสาธารณสุข

2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรจัดสรร ‘กองทุนยาราคาแพง’ (high-cost drug fund: HCDF) หรือ ‘ยาบัญชี จ (3)’ หรือชื่ออื่น ด้วยกรอบวงเงินสนับสนุนที่ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีแรก โดยพิจารณาทำเป็นโครงการนำร่อง Sandbox และควรนำกระบวนการพิจารณายาบัญชียาหลักแห่งชาติมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการตัดสินใจ

3. มีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดในส่วนของผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบของ HCDF เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต