ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กปท.ม่อนจอง จ.เชียงใหม่ เตรียมจัดโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึงพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ เผยผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการฯ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก 


วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ณ อบต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย พญ. วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงานโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึงพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ม่อนจอง จ.เชียงใหม่ และเยี่ยมผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง (ติดเตียง) จำนวน 5 ราย ในพื้นที่อบต.ม่อนจอง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายมนตรี บัวเกตุ นายก อบต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และคณะร่วมลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่ ที่หมู่ 1 และหมู่ 8 โดยมีรพ.สต.บ้านห้วยน้ำขาว รพ.สต.บ้านมูเชอปากทาง และอสม. พร้อมแคร์กิฟเวอร์ (Caregiver : CG) และ แคร์เมเนเจอร์ (care manager: CM)

นายมนตรี บัวเกตุ นายก อบต.ม่อนจอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อบต. ม่อนจอง ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นการยกระดับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เขติอบต.ม่อนจอง

1

นายก อบต.ม่อนจอง กล่าวต่อว่า อบต. ม่อนจอง ได้สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ให้ครอบคลุมในพื้นที่ รพ.แม่ตื่น และ รพ.สต. บ้านห้วยน้ำขาว-รพ.สต.บ้านมูเชอปากทาง จำนวน 2 แห่ง รวมทั้งหมด 2 หน่วยงาน จำนวน 36 คน 

แบ่งเป็นกลุ่ม ก. เป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) จำนวน 15 คน 

กลุ่ม ข. เป็นบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จำนวน 15 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน จำนวนเงิน 49,680 บาท แต่ละคนจะได้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 3 ชิ้น ต่อเดือน ชิ้นละ 9.50 บาท เป็นจำนวน 49,680 วัน โดยหนึ่งคนจะได้ผ้าอ้อมประมาณคนละ 30-90 ชิ้น แจกราย 1 เดือนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่เก็บของบ้านผู้ป่วย 

3

ทั้งนี้ การจัดทำโครงการตามแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบบรรจุ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย” ให้เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กองทุน กปท.) 

ขณะนี้ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กองทุน กปท.) ภาพรวมทั้งประเทศมี กปท 7,741 แห่ง ดำเนินการโครงการผ้าอ้อม 1,629 แห่ง จำนวน 2,012 โครงการ ผู้ที่ได้รับผ้าอ้อม จำนวน 29,961 ราย ผ้าอ้อมที่แจกจำนวน 13.5 ล้านชิ้น และแผ่นรองซับ 404,637 ชิ้น ใช้งบประมาณรวม 130.18 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ 1. บุคคลที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) ของหน่วยจัดบริการ 

2

2. บุคคลที่มีภาวะปัญหากั้นปัสสาวะอุจจาระ ไม่ได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และการประเมินของหน่วยจัดบริการ โดยให้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย ฟรีไม่เกิน 3 ชิ้นต่อวัน ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล หรือ กองทุน กปท. ตามการประเมินตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) 

“โครงการนี้ทำให้บุคคลที่มีภาวะปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังรับฟังโครงการฯ แล้ว ลงเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 5 ราย 1. นางเอ้อ อ่องกาศ มีอาการชรา เคลื่อนไหวไม่ได้ รายที่ 2. นางฟอง คงคำ อาการชรา เคลื่อนไหวไม่ได้ รายที่ 3. นางสม กันทะวัง อาการ ขาขาด เคลื่อนไหวไม่ได้ รายที่ 4. นายศรีมูล รินทา อาการตาบอด/ชรา และรายที่ 5. นายศุภรินทร์ ลิขิตพัสถาน อาการตกจากที่สูง เคลื่อนไหวไม่ได้