ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ ประณามพฤติกรรมสุดแย่ พ่อให้ลูกน้อยดื่มเบียร์ตอนขับรถ ส่วนคนเป็นแม่ถ่ายคลิป ย้ำไม่มีสำนึกความปลอดภัยแถมผิดกฎหมาย หวั่นเป็นตัวอย่างแย่ๆ ให้สังคม ชี้ตำรวจควรเรียกตักเตือนและลงโทษตามกฎหมาย 


จากกรณีที่สื่อโซเชียลมีการนำเสนอข่าวพ่อแม่ปล่อยให้ลูกชายดื่มเบียร์ ขณะที่พ่อขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนแม่เป็นผู้ถ่ายคลิป โดยไม่ห่วงเรื่องของอุบัติเหตุและความไม่เหมาะสมที่ปล่อยให้เด็กเล็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งภาพในคลิปที่เห็นคนเป็นพ่อกำลังขับมอเตอไซค์พ่วงข้าง มีลูกชายนั่งข้างๆ ในมือมีเบียร์กระป๋องยาวพร้อมกับขนม ที่เด็กยกดื่ม และผู้เป็นพ่อได้หยิบกระป๋องเดียวกับลูกยกขึ้นมาดื่มพร้อมกับขับรถไปด้วย คลิปนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม ทั้งไม่เหมาะสม ทั้งผิดกฎหมาย 

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ตนเองได้ทราบข่าว และได้เห็นภาพดังกล่าวแล้ว รู้สึกว่าการกระทำของพ่อแม่เป็นการกระทำที่ไม่ห่วงความปลอดภัยของลูกเลย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และสงสัยว่าครอบครัวนี้ไปอยู่ไหนมาถึงไม่รับรู้ความถึงเสี่ยง พอมีลูกก็ไม่มีวิธีการเลี้ยงลูกให้ปลอดภัย ที่สำคัญการกระทำนี้เข้าข่ายความผิดกฎหมายถึง 3 ฉบับ คือ 1. ผิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 25 (10) ที่บิดา มารดามีหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกให้เด็กหรือผู้เยาว์ได้รับความปลอดภัย 2. ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ห้ามผู้ขับขี่รถและผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วยดื่มเหล้าหรือเบียร์บนรถขณะที่รถวิ่งอยู่ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับนไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2563 ไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีโทษปรับ 800 บาท และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องควรต้องเรียกมาตักเตือนหรือลงโทษตามกฎหมายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม  

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์นี้ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ ควรดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้สุราแก่เด็กตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพราะพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลาน รวมทั้งให้ชีวิตและความปลอดภัย แต่การกระทำครั้งนี้ถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการสนับสนุนให้ลูกดื่มเครื่องดื่มมแอลกอฮอล์ทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ พ่อแม่จะมาอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมายไม่ได้เด็ดขาด อีกทั้งเคสแบบนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน  

“หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็คาดได้ว่าเด็กต้องบาดเจ็บหนักแน่นอน เพราะไม่มีอุปกรณ์นิรภัยช่วยเลย และหาก 1 ใน 3 คนนี้เกิดพิการหรือเสียชีวิต ภาระก็จะตกไปที่คนรอบข้าง ญาติพี่น้องที่ต้องมาดูแล ซึ่งไม่คุ้มค่าหากจะแลกด้วยชีวิตของคนในครอบครัวและอนาคต อีกทั้งพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้จะติดตัวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นความเสี่ยงติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งจะคาดหวังให้พวกเขาเป็นคนรักความปลอดภัย รักชีวิต ก็คงจะยาก ดังนั้น อยากจะให้เป็นอุทธาหรณ์กับทุกครอบครัว ซึ่งไม่ควรเลียนแบบ” นายพรหมมินทร์  กล่าว