ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในระยะหลายปีมานี้ ประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนานวัตกรรมดีๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งโครงการ 2P Safety Tech ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ที่พยายามขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ภายใต้แนวคิด Human Factor Engineering 

โดยมีหลักการคือนำ pain point ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมาเป็นโจทย์ตั้งต้น แล้วจับคู่ทีมโรงพยาบาลกับนวัตกรจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้าง product หรือ Solution ในการแก้ pain point นั้นๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 

โครงการนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562-2563 ที่ผ่านมามีนวัตกรรมทางการแพทย์เกิดขึ้นมากมาย มีทั้งผลงานที่สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างตามธรรมชาติของการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของทุกๆ นวัตกรรมล้วนทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคน ผู้ป่วยหลายคนรอดชีวิตจากผลงานเหล่านี้

หนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Tech และมีผลงานโดดเด่นอย่างมาก คือโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพยาบาลนี้มีการพัฒนาซีรี่ย์ของนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ ผลงานนวัตกรรมเหล่านี้ก็คือร่มเงาที่คอยบังแดดบังฝน สร้างความปลอดภัยแก่คนไข้นั่นเอง

1

เริ่มต้นจากระบบ Rapid Response Alert

พญ.ชุติมา จิระนคร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลหาดใหญ่ หนึ่งในผู้รับผิดชอบการพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย กล่าวถึงภาพรวมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลผู้ป่วยว่าต้องเริ่มจากการเข้าร่วมโครงการ 2P Safety Tech ในปี 2563 และเข้าร่วม Hackathon Camp ทำเวิร์กชอปจนได้นวัตกรรมแรกออกมาคือระบบ Rapid Response Alert ซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรองเพื่อตรวจจับความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นที่จะเกิดกับคนไข้ จากนั้นทำการแจ้งเตือนแพทย์และติดตามดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะปลอดภัย 

พญ.ชุติมา กล่าวว่า ถ้าไปรักษาเมื่อหัวใจหยุดเต้นแล้ว แม้กู้ชีวิตคืนมาได้แต่จากสถิติพบว่ากว่า 90% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ทั้งที่กว่า 50% เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้เพราะก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น จะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสัญญาณชีพก่อนหน้านั้น 6-8 ชม. แล้ว อยู่ที่ผู้ดูแลจะเห็นหรือไม่เท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือน โดยมี Early Warning Score ทำการประมวลผลจากค่าสัญญาณชีพ เช่น ชีพจรเท่าไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ อัตราการหายใจเท่าไหร่ ฯลฯ เมื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปแล้ว ระบบจะประมวลผลแบ่งกลุ่มคนไข้เป็น 3 สี คือสีแดง เหลือง และเขียว

“หลายๆ โรงพยาบาลทำแบบนี้อยู่แล้ว แต่คำนวณด้วยคนซึ่งอาจเกิด human error ได้ และหลายครั้งก็วัดไปหลายๆ เตียงแล้วค่อยมาคำนวณทีเดียว แต่ระบบนี้จะคำนวณเตียงต่อเตียง ใช้เวลาคำนวณไม่ถึง 1 นาที อีกทั้งมีความยืดหยุ่นสามารถตั้งค่าให้เหมาะกับคนไข้เด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ และทันทีที่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สีแดง ระบบจะแจ้งเตือนไปยังแพทย์เจ้าของไข้ทันที ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ไม่ต้องให้พยาบาลโทรแจ้ง และทีมที่ดูแลผู้ป่วยก็จะเห็นเหมือนกันทั้งหมด ในภาพรวมก็จะเห็นสถานะคนไข้ทั้งวอร์ด ผู้บริหารสามารถตัดสินใจจัดการคน เงิน ของ ได้ง่ายขึ้น”พญ.ชุติมา กล่าว

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการตรวจจับสัญญาณอันตรายล่วงหน้าได้เร็วแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการคือต้องผู้เชี่ยวชาญไปดูแล เพราะถ้าส่งหมอ Extern ไป เท่ากับส่งหมอที่มีฝีมืออ่อนที่สุดไปดูแลคนไข้ที่อาจจะเสียชีวิตใน 6-8 ชม. ข้างหน้า โอกาสในการรอดชีวิตก็จะต่ำลงแม้จะเข้าไปดูแลได้เร็วก็ตาม

นับตั้งแต่โรงพยาบาลหาดใหญ่เริ่มพัฒนา Rapid Response Alert และใช้งานจนถึงปัจจุบัน พบว่าอัตราการตายลดลงกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับอัตราการเกิด Unplanned CPR นอกห้อง ICU ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการขยายผลนำไปใช้ที่โรงพยาบาลนราธิวาสแล้ว รวมทั้งติดตั้งระบบเสร็จแล้วที่โรงพยาบาลพัทลุง

ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้ผลงาน Rapid Response Alert ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 2P Safety Tech ในปี 2563 อีกด้วย

2

คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 เหมือนเช็คอินโรงแรม

ในปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ในภาคใต้เริ่มรุนแรงหนักขึ้น จ.สงขลา เคยเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงติด 1 ใน 5 ของประเทศ โรงพยาบาลหาดใหญ่ขณะนั้นต้องให้บริการผู้ป่วยวันละมากกว่า 100 ราย โดยมีจำนวนคนไข้สูงสุดเกือบ 200 ราย ด้วยเหตุนี้จึงมีการแตกหน่อนวัตกรรมโดยการพัฒนาระบบการคัดกรองแบบ Online Check-in ขึ้นมา

พญ.ชุติมา เล่าว่าสถานการณ์ในขณะนั้นคนทุกเพศทุกวัยที่ผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก ต้องมาอยู่รวมกันเพื่อคัดกรอง แยกกลุ่ม ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจค่าออกซิเจน เอ็กซเรย์ปอด ฯลฯ ทำแบบนี้วันละเป็นร้อยคน ทำทุกคนจนเสร็จจึงจะเห็นความเสี่ยงและจัดเกลี่ยเตียง 

ด้วยเหตุนี้จึงนำนวัตกรรมมาช่วยในการจัดการ มีการทำ online check in เมื่อได้ผลแลปเบื้องต้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะโทรไปคัดกรองผู้ป่วย เมื่อคีย์ค่าต่างๆ ที่กำหนดแล้ว โปรแกรมจะคำนวณประเมินความเสี่ยงและแบ่งกลุ่มสีผู้ป่วยออกมาให้ทันที ถ้าเป็นกลุ่มสีเขียวก็จะ match กับจำนวนเตียงที่มีแล้วก็ส่งข้อมูลไปโรงพยาบาลปลายทางที่รองรับ โทรแจ้งคนไข้ให้จัดกระเป๋าแล้วนัดเจอกันเหมือน check in โรงแรม

ผลของการนำระบบนี้มาใช้ ระหว่าง ธ.ค. 2563- เม.ย. 2564 สามารถให้บริการผู้ป่วยไป 18,000 กว่าคน สามารถกรองกลุ่มสีเขียวออกไปได้หมด เหลือแต่สีเหลืองและแดงประมาณ 15% ที่จำเป็นต้องมารับบริการแบบ on site ที่โรงพยาบาล นอกจากคนไข้ได้รับการรักษารวดเร็วแล้ว ยังปลอดภัยกับบุคลากรด้วย

แม้ผลงานนี้จะไม่ได้อยู่ในโครงการ 2P Safety Tech แต่ก็เป็นผลที่แตกหน่อจากโครงการนี้ และได้รับรางวัลผลงานดีเด่นสาขาโควิด-19 ประเภทนวัตกรรม จากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 อีกด้วย

1

ทลายกำแพงด้วย ICU without walls

ย่างเข้าปี 2565 ระบบ Rapid Response Alert ค่อนข้างหยั่งรากได้แข็งแรงแล้ว ทีมงานจึงต่อยอดด้วยการพัฒนานวัตกรรมระบบ ICU without walls ขึ้นมา เนื่องจากเจอปัญหาว่าแม้จะคัดกรองผู้ป่วยความเสี่ยงสูงได้จริง แต่ส่งคนไข้เข้าห้อง ICU ได้น้อย สาเหตุที่คนไข้เข้าไม่ถึงเตียงมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเตียงเต็ม ระบบการขอเตียงที่ซ้ำซ้อน ถ้าอยากได้เตียงต้องโทรหาหมอเจ้าของไข้ทีละคน อีกทั้งไม่มีข้อมูลการใช้เตียงที่ครบถ้วน มีแต่บันทึกเฉพาะคนไข้ที่ได้เตียง แต่ไม่เคยมีข้อมูลจำนวนผู้ที่ขอเตียงแล้วไม่ได้ จึงเกิดเป็นนวัตกรรม ICU without walls ขึ้น เพื่อทลายกำแพงนี้ให้คนไข้เข้าถึงเตียง

พญ.ชุติมา กล่าวต่อไปว่า หลักการของระบบนี้คือทำให้ทุกๆ โรงพยาบาลสามารถจองเตียงได้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยให้คีย์ข้อมูลสัญญาณชีพต่างๆ ที่กำหนด จากนั้นระบบจะประมวลผลความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ป่วยออกมา เพื่อช่วยแอดมินในการตัดสินใจจ่ายเตียง

ขณะเดียวกัน ในกระบวนการหลังบ้านจะใช้ค่าคะแนน SOFA score ในการจัดระดับความหนักเบาของอาการผู้ป่วยในห้อง ICU ถ้าต้องตัดสินใจย้ายคนออกก็สามารถดูได้ว่าผู้ป่วยรายใดที่อาการเบาที่สุด ทำให้ลดปัญหาการโต้แย้งของแพทย์เจ้าของไข้เพราะทุกอย่างทำตามหลักฐานเชิงประจักษ์  

นอกจากนี้ ข้อมลการจ่ายเตียงจะถูกส่งไปยังกลุ่มไลน์ของแพทย์ พยาบาลICU และผู้จองเตียง เมื่อสถานะของเตียงเปลี่ยน ผู้จองเตียงก็จะทราบได้อย่างรวดเร็ว 

“ตอนนี้การจองเตียงง่ายพอๆกับซื้อกับข้าวผ่านมือถือ คุณสามารถกดจองที่นราธิวาส เตียงนี้เป็นของคุณแล้วแม้จะอยู่ห่างไป กม. ตอนนี้เราใช้งานระบบนี้มาได้ 8 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. 2565 - พ.ค. 2566 มีการขอเตียงมา 1,631 ครั้ง คนไข้ส่วนใหญ่มาจากหอผู้ป่วยใน บางส่วนจากห้องฉุกเฉิน และเริ่มมีผู้ป่วย Refer จากโรงพยาบาลอื่นๆแล้ว”พญ.ชุติมา กล่าว

พญ.ชุติมา กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์จากการใช้ ICU without walls พบว่า 85% ของผู้ป่วยได้รับการ approve ให้เข้าถึงเตียงได้ภายใน 2 ชม. อัตราการครองเตียงขึ้นจาก 88% เป็น 101% อัตราการหมุนเวียนเตียง จากเดิม 130 คน/เดือน เพิ่มเป็น 190 คน/เดือน ระยะเวลาครองเตียงลดจาก 8 วันเหลือ 6 วัน และอัตราการตายลดจาก 22% ลงมาเป็น 20% 

“หมุนเตียงเร็วขึ้น นอนสั้นลง คนไข้เข้าถึงเตียงมากขึ้น คนไข้จาก ER เข้าถึง ICU เร็วขึ้นเป็นเท่าตัว” พญ.ชุติมา กล่าว 

ทั้งนี้ ด้วยความโดดเด่นและใช้งานได้จริง ทำให้ผลงาน ICU without walls ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นในโครงการ 2P Safety Tech ประจำปี 2565 อีกครั้ง

3

ต่อยอดด้วย Critical Lab Alert - Culture Alert

แม้จะมีนวัตกรรมดีๆหลายอย่างแล้ว แต่โรงพยาบาลหาดใหญ่ยังคงไม่หยุดยั้งในการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย พญ.ชุติมา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังต่อยอดด้วยการพัฒนาระบบ Critical Lab Alert และ Culture Alert เพื่อเตือนให้ทราบว่าคนไข้กำลังอาการแย่ลงได้อย่างทันท่วงที โดยในส่วนของ Critical Lab Alert นั้น พบว่าหลายๆ ครั้งผลแลปสะท้อนว่าคนไข้กำลังแย่ลง แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในค่าสัญญาณชีพ เช่น ค่าเลือดเป็นกรดที่ต่ำผิดปกติ ค่าโพรแพทเซียมที่สูง เป็นต้น ระบบนี้ก็จะแจ้งเตือนเข้ามาในกลุ่มไลน์ให้แพทย์เจ้าของไข้เห็นได้ทันที

เช่นเดียวกับ Culture Alert ถ้าคนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วเชื้อเพิ่มขึ้น ทันทีที่เชื้อขึ้น ระบบจะแจ้งเตือนให้แพทย์ทราบทันที เช่น ถ้าให้ยาไม่ตรงก็ต้องรีบเปลี่ยนยา เป็นต้น ทำให้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

พญ.ชุติมา กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ในภาพรวมโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ผลิดอกออกผลจากโครงการ 2P Safety Tech ไป 5-6 นวัตกรรม รากฐานการทำงานแข็งแรงมากขึ้น และผลงานที่กำลังผลิดอกออกผลเหล่านี้ ร่มเงาของมันได้สร้างความปลอดภัยไปสู่คนไข้แล้วนั่นเอง