ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.มุ่งเป้าขยายการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กไปยังเด็กกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่างๆ ทั้งเด็กในสถานสงเคราะห์ เด็กในศูนย์เด็กเล็ก เด็กพิการ ฯลฯ หวังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น


ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงโครงการตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติและตัดแว่นตาแก่เด็กอายุ 3-12 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเด็กชั้น ป.1 ที่ตั้งเป้าตรวจคัดกรองทุกราย โดยระบุว่า นอกจากการดำเนินการในเด็กกลุ่มหลักข้างต้นแล้ว อีกส่วนที่ สปสช. จะให้น้ำหนักคือการตรวจคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กกลุ่มเปราะบางต่างๆให้มากขึ้น

ผศ.ภญ.ยุพดี ยกตัวอย่าง สปสช.เขต 4 สระบุรี ซึ่งได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ จัดโครงการตรวจคัดกรองเชิงรุกแก่กลุ่มเด็กในสถานสงเคราะห์ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นโมเดลหนึ่งในการเข้าถึงเด็กกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ยังมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และ สปสช. เขตต่างๆ ก็จะดำเนินการเชิงรุกในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงบริการมากขึ้น

2

ผศ.ภญ.ยุพดี ยังกล่าวถึงเด็กกลุ่มเปราะบางกลุ่มอื่นๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน เป็นอีกกลุ่มที่ สปสช. พยายามดำเนินการผ่านเครือข่ายที่อยู่ในชุมชนรวมทั้งต้องพัฒนาพี่เลี้ยงหรือคุณครูให้สังเกตเด็กในความดูแล เพราะเด็กกลุ่มนี้หากตรวจพบความผิดปกติของสายตาและสามารถแก้ไขโดยเร็วก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อพัฒนาการ เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กพิการที่ยังสามารถใช้สายตาในการมองได้ อาทิ เด็กออทิสติกต่างๆ ถ้าสายตามีปัญหาก็จะยิ่งลดพัฒนาการเด็กมากขึ้นไปอีก ซึ่งจุดนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาการทำความร่วมมือกับมูลนิธิ องค์กร หรือเครือข่ายที่ทำงานด้านคนพิการ รวมทั้งเด็กกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน จะมีกลไกหน่วย 50(5) รวมทั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ทีมอาสาสมัครสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ในการให้รวบรวมข้อมูลเด็กกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดีในขั้นแรกอาจต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้ดูแลก่อน เพราะแทบไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิ และเมื่อทราบแล้วจะกระตุ้นให้เข้ามาร่วมในบริการคัดกรองต่างๆ

“โดยภาพรวม สปสช. ต้องการให้เด็กทุกคนที่มีสิทธิ คืออายุ 3-12 ปี ได้เข้าถึงการคัดกรองสายตาผิดปกติทุกคน แต่เนื่องจากความจำกัดของระบบบริการที่ไม่สามารถเข้าไปคัดกรองเด็กได้ทั้งหมด เราจึงมองว่ามีอีกส่วนที่ต้องให้น้ำหนักเพิ่ม คือกลุ่มเปราะบาง เด็กกลุ่มนี้มีอยู่ทั่วประเทศ หลังจากนี้ สปสช.เขตต่างๆ ก็จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ เช่น การประสานโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้าไปสอนคุณครูว่ามีวิธีการคัดกรองเบื้องต้นอย่างไร หรือถ้ามีเป็นกลุ่มคณะ อย่างเด็กในสถานสงเคราะห์ย่านปากเกร็ดก็อาจร่วมกับหน่วยบริการที่มีศักยภาพจัดหน่วยเชิงรุกเข้าไปตรวจถึงที่ รวมทั้งการใช้กลไกต่างๆที่มี เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางพาเด็กไปรับการตรวจที่หน่วยบริการ เป็นต้น”ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw