ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ไปยัง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เยี่ยมชม ‘โครงการนำร่องใช้รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย’ สำหรับ ‘คนสิทธิบัตรทอง’ ที่ไม่มีฟันทั้งปาก หน่วยบริการเผย ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ-ประชาชนพึงพอใจ


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุทธิพจน์ ชยณัฐพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางพนิต มโนการ ผอ.สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปยัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชม “โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้การรักษาฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปาก ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

2

สำหรับการประเมินผลโครงการนำร่องดังกล่าว ได้อาศัยการดำเนินการผ่านโครงการ “ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ที่เป็นการร่วมกันของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS (องค์การมหาชน) และ สปสช. โดยมีเป้าหมาย คือ 1. ให้คนไทยได้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ใน 76 จังหวัด จำนวน 72,000 ราย 2. ทำให้ผู้ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปากได้รับบริการฝังรากฟันเทียมเพื่อรองรับฟันเทียมทั้งทั้งปากตามความจำเป็นใน 76 จังหวัด จำนวน 7,200 ราย

ทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า โครงการให้บริการรากฟันเทียมที่เป็นการทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีการดำเนินการมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สำหรับความพิเศษในครั้งนี้คือการที่ สปสช. ได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมให้กับคนสิทธิบัตรทอง เมื่อช่วงปี 2564 ทำให้ทางโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ จากเดิมที่ทาง TCELS จะเป็นผู้จัดซื้อมารากฟันเทียมมาสนับสนุน

1

ทั้งนี้ จากการเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 จนถึงขณะนี้ ได้ให้บริการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมให้กับประชาชนแล้วจำนวน 8 รายแล้ว โดยยังมีผู้ป่วยที่ยังรอรับการรักษาทั้งจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชเอง และจากโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ให้บริการนี้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าศาลา โรงพยาบาลสิชล และโรงพยาบาลทุ่งสง อีกจำนวนหนึ่ง และหลังจากนี้จะมีการให้บริการต่อไปเรื่อยๆ เพราะได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของสิทธิบัตรทองเรียบร้อยแล้ว

ทพญ.กิ่งเกศ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนรากฟันเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยที่ได้นำมาใช้ในครั้งนี้ ต้องบอกว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงจากการสอบถามผู้ที่ให้รับการฝังรากฟันเทียมไปก็ค่อนข้างมีความพอใจ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการพัฒนามาโดยตลอดจากโครงการครั้งก่อนๆ ด้วย 

“วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาเข้าร่วมประชุมด้วย โดยการดำเนินการในโครงการที่ 3 นี้เราได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ก็จะมีข้อสงสัย ข้อติดขัดอะไรบางอย่าง เราก็สามารถซักถาม ขอคำแนะนำ และความชัดเจนจากระเบียบอะไรต่างๆ ได้ เพราะหลายคำถามผู้ให้บริการอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เราสามารถให้บริการได้ด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น”

1

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมถอดได้ที่ประสบปัญหาใส่แล้วรู้สึกหลวมหรือหลุดนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากในระยะยาวการใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหารมีโอกาสทำให้กระดูกที่อยู่ใต้เหงือกเกิดการละลายและทำให้หน้าปากแบน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นฟันเทียมทั้งปากก็ไม่สามารถใส่ได้ 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า โดยรากฟันเทียมที่นำมาให้บริการ เป็นรุ่น PRK ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตโดยบริษัท มหาสวัสดิ์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเริ่มนำมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 โดยในปี 2566 นี้ มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,500 ราย และปี 2567 อีกจำนวน 3,700 ราย ซึ่งเบื้องต้นโครงการนี้จะให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองก่อน เพื่อจัดระบบบริการทั้งบุคลากรและเครื่องมือก่อนจะขยายผลต่อไปในอนาคต

“หลังจากเห็นว่าโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาแล้ว เราจึงมาลงพื้นที่ที่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและเป็นการรับฟังข้อมูลปัญหาต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง แล้วจะได้นำข้อมูลกลับไปพัฒนาระบบการบริการรากฟันเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการดำเนินงานต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

3

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ บอร์ด สปสช. กล่าวว่า ในตอนแรกคิดว่าการให้บริการอาจเกิดความไม่ราบรื่นค่อนข้างมาก แต่พอวันนี้ได้รับฟังการปฏิบัติงานจากคนที่ทำงานจริง ทำให้เห็นเลยว่าแม้จะมีอุปสรรคพอสมควร แต่ถ้ามองโดยรวมแล้วมีทิศทางที่ดีมาก และที่สำคัญก็คือที่นี่ไม่ได้ทำแค่โรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น แต่ยังมีการสร้างเครือข่ายการให้บริการกับโรงพยาบาลในจังหวัดอีก 3 แห่งด้วย 

นอกจากนี้ รากฟันเทียมที่ใช้ในการรักษาผ่านระบบบัตรทองภายใต้โครงการนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากฝีมือของบริษัทไทย ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ เพราะต้องผ่านการพิสูจน์จากทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงมีราคาที่ไม่แพง 

นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า โดยจากสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมที่บอร์ด สปสช. ได้เพิ่มเข้ามา ก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการนี้ ต้องใช้รากฟันเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยเท่านั้น เพื่อสร้างอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย และต่อไปก็จะสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจการพัฒนาอย่างยั่งยืน (BCG) 

“ระบบบัตรทองได้อาศัยทุนทางสังคมและบุญบารมีของราชวงศ์ ตลอดจนบารมีทางศาสนาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน เช่นในกรณีที่มาดูในวันนี้ คนไข้คนแรกที่ได้รับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมในโครงการเฉลิมพระเกียรติ คือ เจ้าคณะอำเภอ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้คนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น และส่งผลให้ผู้ที่ต้องการก็จะเข้ามารับบริการมากขึ้น” นพ.สุวิทย์ ระบุ 

3

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw