ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ตั้ง “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม” ดึงผู้เชี่ยวชาญทันตกรรม รุกพัฒนาระบบ แก้อุปสรรค ดูแลสุขภาพช่องปาก “ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง” เปิดประชุมนัดแรก ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ ปี 2564 คนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรม ร้อยละ 9.9 ผู้มีสิทธิบัตรทองใช้สิทธิรับบริการมากสุด ร้อยละ 36.6 ขณะที่ ร้อยละ 28 เป็นผู้มีสิทธิแต่ไม่ใช้สิทธิในการรับบริการ เหตุรอคิวนาน สิทธิไม่ครอบคลุม ติดรับบริการในเวลาราชการ เป็นต้น


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม กล่าวว่า การดูแลสุขภาพฟันและช่องปาก ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาและฟื้นฟู เป็นบริการที่จำเป็นสำหรับทุกกลุ่มวัย ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ที่ผ่านมา สปสช. ได้ตั้ง “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม” ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ 

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ชุดนี้ มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมในด้านต่างๆ เช่น รูปแบบการบริการหรือนวัตกรรมบริการด้านทันตกรรม กลไกการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข รูปแบบและวิธีการตรวจสอบการประเมินผล การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของผุ้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมเป็นครั้งแรกและได้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงบริการทันตกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเข้าถึงบริการต่อไป 

พญ.วรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลอ้างอิงผลการการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2564 โดยการสำรวจประชากรที่มารับบริการทันตกรรม พ.ศ. 2556-2564 พบว่า ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมสูงสุดในปี.2564 ร้อยละ 9.9 และน้อยสุดในปี 2558 ร้อยละ 8,1 การรับบริการมีทั้งขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน ตรวจสุขภาพช่องปาก ใส่ฟันเทียม จัดฟัน เคลือมหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ โดยประชาชนในเขต กรุงเทพมหานครเข้าถึงบริการมากที่สุดร้อยละ 51.8  และเมื่อแยกการให้บริการตามประเภทของสถานพยาบาลจะเป็นการให้บริการโดยสถานพยาบาลภาครัฐ ร้อยละ 45.6 และสถานพยาบาลเอกชน ร้อยละ 42.8  

ผลการเข้าถึงบริการทันตกรรมเมื่อแยกตามสิทธิประกันสุขภาพ พบว่า สิทธิสวัสดิการข้าราชการเข้าถึงมากที่สุด ร้อยละ 15.4 รองลงมาคือ สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 12 และสิทธิหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ร้อยละ 7.8 ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบการมีสิทธิประกันสุขภาพและใช้บริการตามสิทธิ พบว่า ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการทันตกรรมสูงสุด ร้อยละ 36.6 รองลงมาเป็นสิทธิข้าราชการ ร้อยละ 24 และสิทธิประกันสังคม ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพร้อยละ 28 ที่ไม่ใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ โดยสาเหตุของการไม่ไปใช้บริการตามสิทธิสูงสุด คือ การให้บริการช้าและรอคิวนาน ร้อยละ 42.7 รองลงมาคือ สิทธิบริการไม่ครอบคลุม ร้อยละ 29.8 ไม่สะดวกไปในเวลาทำการ ร้อยละ 16.4 และสถานพยาบาลอยู่ไกล ไม่สะดวก ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

“จากข้อมูลที่ปรากฏนี้จำต้องมีการบริหารจัดการด้วยกลไกต่างๆ เช่น เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการได้ มีสถานพยาบาลบริการเพิ่ม มีระบบนัดหมายที่ดี สิทธิประโยชน์ครอบคลุม และให้บริการที่ต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นกลไกเชื่อมต่อกับผู้รับบริการที่ต้องมีการรับรู้ข้อมูล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิและบริการ” ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข กล่าว   

ด้าน ทพ.สันติ ศริวัฒนไพศาล ผอ.สปสช. เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1) บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันแยกตามกลุ่มวัยภายใต้ประกาศฯประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565  2) บริการทันตกรรมรักษาและทันตกรรมฟื้นฟู โดยแบ่งการให้บริการตามรูปแบบการชดเชยค่าบริการได้แก่  ทันตกรรมรักษาเหมาจ่าย  ทันตกรรมรักษาตามรายการ OP Anywhere บริการกรณีเฉพาะ Central Reimbursement : CR  3) นวัตกรรมการให้บริการด้านทันตกรรม ได้แก่ บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตามแม้มีสิทธิประโยชน์ให้บริการครอบคลุมแล้ว แต่รายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พบว่า ในกลุ่มอายุ 35-44 ปี มีผู้ที่เป็นฟันผุถึงร้อยละ 43.3 ฟันถอน ร้อยละ 85.3 และฟันอุ ร้อยละ 46.6 สะท้อนให้เห็นการเข้าถึงการรักษา เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 60-74 ปี ที่ฟันผุร้อยละ 52.6 ฟันถอน ร้อยละ 96.8 และฟันอุด ร้อยละ 22.5 ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของประชาชนยังคงมีปัญหา จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สิทธิเข้าถึงบริการได้ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่คณะทำงานฯ ต้องมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกในการดูแลประชาชน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ