ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนา ย้ำ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดผลกระทบทางสังคม ยกงานวิจัยชี้นักดื่มลดลง 2% เพศชายลดลง 5.9% ยันการปรับปรุงต้องคงเจตนารมณ์เดิม ไม่เปิดช่องเอื้อนายทุน สองฝ่ายหนุน-ค้าน เห็นตรงกัน ถึงเวลาจัดการทุนใหญ่ห้ามใช้ตราเสมือนโฆษณาเลี่ยงกฎหมาย


เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 มูลนิธิเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบช่วงก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าสัดส่วนผู้บริโภคลดจาก 30% ในปี 2550 เป็น 28% ในปี 2564 หรือลดลง 2% โดยเพศชายลดจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือ 46.4% ในปี 2564 หรือลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงเพิ่มขึ้น 1.7%

ขณะเดียวกันเมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดื่มลดลง ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 1% ในส่วนของผลกระทบโดยเฉพาะปัญหาเมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดจาก 37.8% ในปี 2551 เหลือ 25.6% ในปี 2565 หรือลดลง 12.2% เมาแล้วขับเทศกาลสงกรานต์ ลดจาก 35.5% ในปี 2551 เป็น 26.0% ในปี 2565 หรือลดลง 9.5%

“จะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง และช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมาด้วย ดังนั้นในการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2566 จึงพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่จำหน่าย จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย และจำกัดการโฆษณา ซึ่งมีเพียง 5.5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดสถานที่จำหน่าย 6.9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาจำหน่าย และ 9% จำกัดการโฆษณา” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

1

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้จะมีกลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่เคลื่อนไหวคัดค้านการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ภาคประชาชน รวมถึงประชาชนกว่า 13 ล้านคน ที่ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2551 เจตนารมณ์สำคัญคือการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม

ขณะที่สาระหลักนอกจากตั้งกรรมการชุดต่างๆ แล้ว คือการกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมาครองสติไม่ได้ การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย การควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุรา เป็นต้น จนสามารถลดจำนวนนักดื่ม ทำให้การกินดื่มอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม จำกัดการเข้าถึงและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ในภาพรวมยังมีปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป อาทิ ปัญหาการใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่น (ตราเสมือน) การขาดแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์พิจารณาลักษณะผู้ซื้อที่เข้าข่ายเมาครองสติไม่ได้ ปัญหาการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ และการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดสุราที่ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

นายธีรภัทร์ ระบุว่า ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ทันสมัย ทันกับสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง แต่ยังจำเป็นต้องรักษาเจตนารมณ์ไว้อย่างเคร่งครัด และไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด การจัดการเรื่องตราเสมือนซึ่งเป็นความฉ้อฉลที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ การอบรมผู้ขายให้มีทักษะมากขึ้น เป็นต้น

2

ด้าน นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรายอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อสังคม จึงต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ แต่ก็มองว่ามีบางมาตราที่ควรแก้ไข เพราะมีปัญหาในการบังคับใช้ เช่น แก้ไขมาตรา 32 ให้มีการโฆษณาได้ แต่กำหนดให้ชัดเจนว่าห้ามโฆษณากับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กำหนดเม็ดเงินโฆษณาให้ชัดเจน เช่น ไม่เกิน 1.5% ของเม็ดเงินในธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยได้มีโอกาสสู้กันซึ่งๆ หน้า เท่าเทียม ไม่ใช่ไปใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมาทำการโฆษณา อย่างการใช้ตราเสมือน

นายเท่าพิภพ ระบุว่า นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ คือควรมีการอบรมผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนเคยไปออกบูธที่ประเทศสิงค์โปร์ ก็ไม่สามารถเสิร์ฟเบียร์ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดวันห้ามดื่มที่อิงกับศาสนา ทั้งหมดนี้เชื่อว่ามีจุดร่วมที่เราสามารถเดินไปด้วยกันได้