ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการพยายามปรับเปลี่ยนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของจังหวัดเชียงใหม่ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

นั่นก็คือการพัฒนา “LTC Smart Yangnoeng แอปพลิเคชันที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) ของเทศบาลตำบลยางเนิ้งอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

แอปพลิเคชันนี้ ยังสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver) และทีมสหวิชาชีพเพื่อให้การดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเป็นไปตามจุดประสงค์ของแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) อีกด้วย

“The Coverage” จึงขออาสาพูดคุยกับผู้พัฒนาแอปฯ ส.อ.สุทัศน์ มูลรังสี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลยางเนิ้ง ที่มีความสนใจด้านไอทีและการเขียนโปรแกรมเป็นทุนเดิม ถึงแนวคิดที่ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวจนสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจากติดเตียง กลายมาเป็นติดบ้าน และยังสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 รางวัลอีกด้วย

ส.อ.สุทัศน์ อธิบายว่า ปกติแล้ว CG หรือทีมสหวิชาชีพจะลงเยี่ยมบ้านผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงตาม Care Plan ที่ผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข (CM) เขียนเอาไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยที่ตั้งเอาไว้ แต่การจะจัดบริการให้ได้ตามเป้าหมายก็จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือที่จะนำผลนั้นไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากเดิมการบันทึกข้อมูลยังเป็นการบันทึกลงกระดาษ บางครั้งอาจมีความไม่ต่อเนื่องทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ตั้งเอาไว้

นั่นจึงเป็นเหตุให้ ส.อ.สุทัศน์ เริ่มคิดและหยิบยืมระบบจากจังหวัดหนึ่งมาใช้เพื่อพัฒนาการทำงานเมื่อช่วงต้นปี 2564 แต่ทว่าเมื่อผ่านไปสักพักจึงพบว่าตัวแอปฯ ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการซึ่งส่วนนั้นเป็นส่วนสำคัญ นั่นก็คือการขออนุมัติงาน เนื่องจากเมื่อบันทึกการเยี่ยมบ้านเสร็จสิ้น ข้อมูลก็จะมาถึงผู้ที่ตรวจสอบและอนุมัติงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ รวมไปถึงในส่วนของประชาชน นั่นก็คือ LINE OA นั่นเอง

“ลองให้ทีมใช้ เขาก็บอกว่ายังบันทึกยาก ส่วนตัวก็มองด้วยว่าบางเรื่องยังไม่ตอบโจทย์ เพราะบางทีหน่วยงานนอก เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจ เขาก็ต้องดูการอนุมัติงานว่ามีลายเซ็นการบริการประชาชน หรือมีลายเซ็นคนตรวจสอบงานหรือไม่”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาเป็น “LTC Smart Yangnoeng ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทการทำงานของพื้นที่มากที่สุด โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากเทศบาลฯ เลยตลอดการพัฒนา ด้วยเหตุผลที่ว่าจำนวนข้อมูลที่อยู่ในการดูแลของ LTC ไม่ได้มีมาก (ปัจจุบันมีประมาณ 90 ราย) ทำให้การบริหารจัดการง่ายไม่จำเป็นต้องใช้งบมากมายในการพัฒนา

ส.อ.สุทัศน์ ขยายความการทำงานของแอปฯ ตัวนี้ว่ามีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก สำหรับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น CG หรือสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย หรือนักจิตวิทยา ฯลฯ เข้าไปบันทึกข้อมูลเพื่อส่งให้ CM หลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมบ้านผ่านแอปฯ ทดแทนการใช้กระดาษจำนวนมากเหมือนในอดีต โดยจะเหลือกระดาษที่เป็นส่วนสรุปสำคัญสำหรับให้หน่วยงานนอกตรวจสอบเท่านั้น

สำหรับการบันทึกงานก็จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. การประเมินสัญญาณชีพ อาการปัจจุบันของผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และความต้องการของผู้ป่วย 2. กิจกรรมที่ล้อไปกับ Care Plan ที่ได้มีการตั้งเอาไว้ 3. ภาพกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับผู้ป่วย และ 4. ลายเซ็นของญาติผู้ป่วย และผู้เยี่ยมบ้านที่สามารถดำเนินการผ่านหน้าจอโทรศัพท์ได้ทันที และข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งขึ้นระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง เพราะการจะเข้าระบบได้นั้น จะต้องเป็นหลังจากได้รับรหัส OTP ผ่านโทรศัพท์มือแล้วเท่านั้น

“ฝั่งผู้ปฏิบัติงานสามารถเห็นรายชื่อของคนที่อยู่ในการดูแลได้ ซึ่งตรงนี้ทำได้ทั้งการสแกน QR Code ข้อมูลของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ หรือเลือกผ่านรายชื่อจากโทรศัพท์ผ่านแอปฯ”

นอกจากนี้ ส่วนถัดมา สำหรับประชาชน โดยมีการพัฒนาเชื่อมกับ LINE OA สำหรับใช้บริการ รวมไปถึงสามารถส่งข้อเสนอแนะ หรือความต้องการเข้ามาที่เทศบาลฯ ได้โดยจะมีระบบ AI ตอบกลับอัตโนมัติ

มากไปกว่านั้นตัวแอปฯ ยังได้เชื่อมต่อกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของเทศบาลฯ โดยจะเป็นการเชื่อมระบบกับกูเกิลแมพเพื่อระบุพิกัดของผู้ป่วย พร้อมกันนั้นจะมีข้อความอัตโนมัติส่งไปหาผู้แจ้งว่าเจ้าหน้าที่อยู่ในขั้นตอนใดแล้ว

“แอปฯ ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ชาวบ้านรับบริการสะดวกขึ้น เราไม่ได้เน้นเรื่องมือถือที่เป็นแอปฯ อย่างเดียว ทุกครั้งที่ CG กำนัน ฯลฯ ไปเยี่ยมบ้านเขาก็สามารถช่วยเหลืออีกทางหนึ่งได้”

ส.อ.สุทัศน์ อธิบายว่าอีกหนึ่งส่วนที่ได้พัฒนาไปพร้อมๆ กันนั้นก็คือ “Dashboard” สรุปรายงานประจำปี เพื่อให้ประชาชนและผู้บริหารได้รับทราบ โดยจะไม่มีการระบุรายชื่อของผู้ป่วย แต่จะเป็นการรายงานสถิติแทน เช่น สถิติการทำงานของผู้ปฏิบัติ การลงเยี่ยมบ้าน อาการของผู้ป่วยคงที่ แย่ลง หรือมีภาวะแทรกซ้อน ฯลฯ

ส่วนนี้จะเชื่อมโยงระหว่างผู้รับบริการและเทศบาลฯ เข้าด้วยกัน นำไปสู่การวางแผนการทำงานร่วมกันในอนาคตผ่านการรับฟังความคิดเห็น

จากการดำเนินการ และติดตามผลออนไลน์ผ่านแอปฯ พบว่ามีผู้ป่วยติดเตียงกลายเป็นผู้ป่วยติดบ้านมากขึ้นประมาณ 40-50% จากเดิมจะอยู่ที่ 20% ของผู้ที่มีภาวะพึ่งในการดูแลทั้งหมด

“คำว่า Long Term Care คือการดูแลระยะยาว คนไข้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ จริงๆ เป้าหมายในการดูแล เราพยายามรักษาคะแนนการวัดความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน (ADL) ให้คงที่ไม่ให้ต่ำกว่าเดิม แต่บางเคสที่สามารถฟื้นตัวได้เราก็พยายามให้ฟื้นตัวขึ้น”

ส่วนสำคัญที่ตอกย้ำความมาถูกทางของการพัฒนาแอปฯ ดังกล่าว นอกเหนือไปกว่าการที่ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว แอปฯ ตัวนี้ยังสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) จากการประกวด Smart City Solutions Awards 2022 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นประจำปี 2565 ด้านสาธารณสุข จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ส.อ.สุทัศน์ เล่าว่า ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ แอปฯ “LTC Smart Yangnoeng ก็กำลังจะได้รับอีกหนึ่งรางวัล นั่นก็คือรางวัลนวัตกรรมด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุดีเด่น ชนะเลิศอันดับหนึ่งของเขตสุขภาพที่ 1 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีกด้วย

“จริงๆ ตอนนี้เป็นยุค 5G ฉะนั้นการใช้ชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้อง ฉะนั้นยิ่งเราปรับตัวให้เร็วที่สุดในการใช้ เราก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น”