ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่เทศบาลตำบลยางเนิ้ง จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมการพัฒนาแอปพลิเคชัน LTC Smart Yangnoeng ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พบทำให้ค่า ADL ผู้ป่วยดีขึ้น เชื่อมโยงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วย Care Giver ทำงานง่าย พร้อมเยี่ยมชม รพ.สต.หนองหลุม อ.เมือง จ.ลำพูน ดำเนินงานโปรแกรม NCDx ช่วยผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงคุมโรคได้ดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง


เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เทศบาลตำบลยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) ของเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน LTC Smart Yangnoeng พร้อมทั้งลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหลุม (รพ.สต.หนองหลุม) อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อเยี่ยมชมการชมศูนย์การเรียนรู้ NCDX Model สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมโรคได้ปานกลาง

1

นายโชติอนันต์ แก้วกาวิล รองนายกเทศมนตรีตำบลยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน LTC Smart Yangnoeng เป็นการผสานร่วมกับแอปฯ ไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็วในการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง และยังมีการให้ข้อมูลบริการระบบสุขภาพ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ในเบื้องต้น รวมไปถึงเชื่อมบริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่าน Google Map และติดตามผลการช่วยเหลือต่างๆ ของเทศบาลได้ผ่านการแจ้งเตือนไลน์ และมีการจัดเก็บฐานข้อมูลบนคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ดี การดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่นั้น เป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้ดูแล หรือ Care Giver (CG) และทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้การดูแลเป็นไปตาม Care Plan หรือแผนการดูแลสุขภาพรายบุคคลโดยมีผู้จัดระบบการดูแล หรือ Care Manager (CM) ที่เป็นผู้จัดทำแผนให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตามชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนด

นอกจากนี้ จากนโยบายของนายกฯ ที่ระบุว่าจะต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ดูแลคนยางเนิ้งทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งทางเทศบาลฯ เองก็ได้เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในที่จะอำนวยความสะดวกให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น 

2

หลังจากนำแอปฯ LTC Smart Yangnoeng มาใช้ ทำให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลครอบคลุมครบถ้วนตาม Care Plan 100% มีคะแนนการวัดความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน (ADL) ที่ดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

“การจัดบริการสุขภาพไม่เพียงแต่ให้ผู้สูงอายุหรือมีภาวะพึ่งพิงได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรีเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการแบ่งภาระ ดูแลในครอบครัว ฉะนั้นระบบการดูแลระยะยาวต้องไม่ใช่เพียงการดูแลสุขภาพร่างกาย แต่หมายถึงการดูแลคุณภาพชีวิตในทุกด้านของผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามวิสัยทัศน์ยางเนิ้งเมืองน่าอยู่ภายใต้การจัดการบริหารที่ดี” นายโชติอนันต์ ระบุ 

ส.อ.สุทัศน์ มูลรังสี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลยางเนิ้ง ในฐานะผู้ดูแลระบบแอปฯ LTC Smart Yangnoeng กล่าวว่า การพัฒนาแอปฯ ดังกล่าวขึ้นมาเนื่องจากพบปัญหาความลำบากในการปฏิบัติงานของผู้ดูแล (CG) และผู้จัดระบบการดูแล (CM) ซึ่งการพัฒนาแอปฯ เป็นการทำเพื่อตอบสนองให้ Care Plan (แผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล) ที่เขียนโดยผู้จัดระบบการดูแล (CM) สามารถไปสู่เป้าหมายตามที่ได้ตั้งเอาไว้ เช่น ผู้ป่วยต้องมีค่า ADL ดีขึ้น ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น

4

อย่างไรก็ดี สำหรับ LTC Smart Yangnoeng ถูกพัฒนาขึ้นมา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ให้ผู้ป่วยและญาตินำไปใช้ ผ่านการเชื่อมต่อไลน์ (Line OA) ทำให้เห็นกิจกรรมที่ผู้ดูแล (CG) ลงไปดูแลว่าเกิดขึ้นจริง และสร้างความมั่นใจในการสร้างหลักประกันสุขภาพอีกด้วย สำหรับส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกงานของผู้ดูแล (CG) ทำให้การส่งงาน หรือข้อมูลไม่ยุ่งยาก แตกต่างกับอดีตที่จะต้องส่งเป็นกระดาษ ทำให้บางครั้งมีข้อมูลผิดพลาด และทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลไม่ต่อเนื่อง ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวเริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงแรกก็ได้มีการยืมระบบของ จ.เพชรบูรณ์มาใช้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาต่อให้เข้ากับระบบและพื้นที่มากขึ้น

“ในส่วนของผู้จัดระบบการดูแล (CM) ที่เป็นผู้จัดการรระบบ เราใช้ AI ประมวลผลข้อมูลที่ผู้ดูแล (CG) และ นักกายภาพส่งมา เมื่อประมวลเสร็จก็จะส่งต่อไปที่ผู้จัดระบบการดูแล (CM) เพื่อแก้ไขปัญหาและปรับแผนการดูแล รวมไปถึงประธานผู้สูงอายุที่มีอำนาจทางการเงินก็สามารถดูได้ว่าทำจริง ผลการดำเนินการเป็นอย่างไรก็จะสามารถอนุมัติการจ่ายเงินได้สะดวกขึ้น” ส.อ.สุทัศน์ ระบุ 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เทศบาลตำบลยางเนิ้งเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการดูแลด้านสาธารณสุข ภายใต้การดูแลจากทีมผู้บริหารซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ ในวันนี้ก็ได้ลงมาดูกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง

3

อย่างไรก็ดี แอปฯ ที่เทศบาลตำบลยางเนิ้งได้พัฒนาขึ้น จะเป็นการติดตามการทำงานของผู้ดูแล (CG) รวมไปถึงถ้าผู้ป่วยหรือญาติมีปัญหาก็สามารถบันทึกลงไปในแอปฯ ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อดูแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพสูง และเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 

“เทศบาลตำบลยางเนิ้งแสดงให้เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงดีขึ้น ก็อยากจะให้เทศบาลได้มีโอกาสถ่ายทอดไปที่อื่นด้วย” นพ.จเด็จ กล่าว 

วันเดียวกัน คณะผู้บริหาร สปสช. ยังได้ลงพื้นที่ รพ.สต.หนองหลุม อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้โปรแกรม NCDX Model ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิสู่วิถีชีวิตใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการจัดการตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง 

5

พญ.กรรณิกา วินาพา แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประจำ รพ.สต.หนองหลุม กล่าวว่า สำหรับโปรแกรม NCDx เป็นหนึ่งในโปรแกรมเพิ่มความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิสู่วิถีชีวิตใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการจัดการตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่ได้รับการสนับสนุนด้านความรู้จากสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) 

อย่างไรก็ดี โปรแกรม NCDx จะใช้กับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มที่ควบคุมโรคปานกลาง ได้เข้ามาร่วมปรับพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเอาไว้ เช่น ลดน้ำหนักตัว เพิ่มการเคลื่อนไหว ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มสีเขียวซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถควบคุมโรคได้ดี ไม่กลายเป็นกลุ่มสีแดงหรือกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ดี 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ