ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การสำรวจ 139 ประเทศทั่วโลก พบว่าแม้ประเทศส่วนมากมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพ แต่ขาดการนำไปสู่ปฏิบัติที่เกิดสัมฤทธิ์ผล การทำนโยบายยังเป็นไปในลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการและความชัดเจน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก หรือ Universal Health Coverage Day สถาบันวิจัยและการศึกษาด้านสาธารณสุข Swiss Tropical and Public Health Institute ได้เผยแพร่ผลการสำรวจระดับความมุ่งมั่นและสถานะของ 139 ประเทศในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจัดทำการสำรวจในระหว่างปี 2564-2565

การศึกษาเน้นสำรวจความมุ่งมั่นใน 8 เสาหลักที่ต้องคำนึงในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความเท่าเทียมทางเพศ และการเตรียมพร้อมรับมือสภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น

แม้การสำรวจพบว่าประเทศส่วนมากมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพ และมีความพยายามนำไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการพัฒนานโยบายและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง แต่การดำเนินนโยบายกลับเป็นไปในลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการเข้ากับระบบสุขภาพในภาพรวม

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขาดความชัดเจน ไม่พิจารณาการใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฐานะเครื่องมือยกระดับระบบสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทั้งประเทศ สามารถสรุปผลการสำรวจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และความมุ่งมั่นทางการเมือง

ระดับความตั้งใจในการดำเนินนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของประเทศที่ทำการสำรวจอยู่ที่ 9% โดยเฉลี่ย ส่วนระดับความมุ่งมั่นทางการเมืองอยู่ที่ 17%

85% ของประเทศที่ทำการสำรวจมีความต้องการลดข้อจำกัดด้านการเงินของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าบริการสุขภาพ ในประเทศกลุ่มนี้มี 52% ที่กำลังดำเนินการทำตามคำมั่นสัญญา 37% ดำเนินการในระดับสถาบันแล้ว 10% เป็นเพียงคำสัญญาด้วยถ้อยคำ

กฎระเบียบและการดำเนินการด้านกฎหมาย

ระดับความมุ่งมั่นในด้านการจัดทำกฎระเบียบและการดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยู่ที่ 33% โดยเฉลี่ย

70% ของประเทศที่ทำการสำรวจนำหลักประกันสุขภาพส่วนหน้าใส่ในแผนสุขภาพระดับชาติ แต่มีเพียง 11% ของประเทศในกลุ่มนี้นำแผนไปสู่การปฏิบัติที่มีโรดแมปชัดเจน

1 ใน 4 ของประเทศรวมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหนึ่งในเป้าหมายแผนสุขภาพระดับชาติ แต่ประเทศเกือบทั้งหมดยังไม่สามารถพัฒนาแผนปฏิบัติงาน หรือมีปัญหาการสื่อสารความก้าวหน้าของแผน

หลายประเทศเน้นที่งานรับมือโรคเฉพาะด้าน แทนที่จะพัฒนาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งขึ้นในภาพรวม

คุณภาพบริการสุขภาพ

ระดับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพอยู่ที่ 18% โดยเฉลี่ย ยังพบการเลือกปฏิบัติ (10.3%) และบริการสุขภาพที่มีคุณภาพจำกัด (61.2%)

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า 139 ประเทศที่ทำการสำรวจจะมีสัดส่วนการพัฒนาระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต

การลงทุนด้านสุขภาพ

ระดับความมุ่งมั่นที่จะลงทุนด้านสุขภาพมีเพียง 2% เท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์โลกที่เพิ่งผ่านการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

ในกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนเพิ่ม เน้นไปที่การเพิ่มการเข้าเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และทำระบบข้อมูลสุขภาพ

การมีส่วนร่วม

ระดับความมุ่งมั่นในการสร้างการมีส่วนร่วมอยู่ที่ 21% โดยรัฐบาลของประเทศเกือบทั้งหมดมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมการประเมินผลความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้สหประชาชาติ แต่มีส่วนน้อยที่สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินนโยบายสุขภาพภายในประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลนานาประเทศจะแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ในการลดปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ รวมทั้งจัดทำระบบการติดตามและประเมินผลเพื่อสร้างธรรมมาภิบาล แต่มีเพียง 10% ที่ตั้งกลไกการตรวจสอบธรรมาภิบาลอย่างเป็นทางการ

ความเท่าเทียมทางเพศ

แม้ว่า 75% ของประเทศที่ทำการสำรวจมีความมั่งมุ่นที่จะยกระดับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ และรวมบริการด้านนี้เข้าในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่พบว่าประเทศต่างๆมีความเข้าใจประเด็นด้านเพศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การให้น้ำหนักด้านนี้ต่างกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้นำในฝ่ายการเมืองและแวดวงสุขภาพมีตัวแทนที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายอยู่มาก ทั้งๆที่บุคลากรทางการแพทย์มีสัดส่วนผู้หญิงมากพอๆกับเพศชาย

การเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน

หลายประเทศรับรู้ว่าโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 มีผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่กลับไม่นำบทเรียนนี้มาส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรหลังผ่านพ้นโรคระบาด ทั้งๆที่โรคระบาดเผยให้เห็นช่องว่างการเข้าถึงบริการ และการไร้ความสามารถในการรับมือสถานการณ์วิกฤต

ผลการสำรวจนำไปสู่คำถามว่า นานาประเทศจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนได้หรือไม่

แม้ว่าหลายประเทศจะมีความก้าวหน้า แต่อัตราความก้าวหน้านี้ถือว่าหลากหลายเมื่อเทียบในแต่ละประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะมีทรัพยากรและความมุ่งมั่นในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติไม่เท่ากัน

ผู้วิจัยชี้ว่า หากต้องการบรรลุเป้าหมายได้ตามเวลาที่วางไว้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงของนโยบายสุขภาพใน “ระดับรุนแรง” เท่านั้น

อ่านข่าวต้นฉบับที่:
https://www.weforum.org/agenda/2022/12/universal-health-coverage-health-for-all/