ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลรามาธิบดี เตรียมก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ-ผลิตบุคลากรทางแพทย์-สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ หวังปรับโฉมโรงพยาบาลรัฐ ลดความแออัด นอนรวมไม่เกินห้องละ 3 คน ตรวจผู้ป่วยนอก 5,000 คนต่อวัน แก้ไขปัญหาตอบโจทย์ประชาชน-บุคลากรทางการแพทย์ คาดเปิดให้ใช้เต็มรูปแบบปี 2573


ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าก่อสร้าง “อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี" ที่จะเป็นอาคารหลังใหม่จะอยู่ในเขตขององค์การเภสัชกรรมเพื่อแทนอาคาร 1 ที่มีอายุการใช้งานเกือบ 60 ปี ทำให้ระบบสาธารณูปโภคบางอย่างเสื่อมโทรมและไม่สามารถใช้งานต่อได้ ซึ่งภายหลังจะมีการปรับให้อาคาร 1 กลายเป็นศูนย์ตรวจสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ รวมไปถึงใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ต่อไป

สำหรับอาคารหลังใหม่ ตั้งขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วยสามัญประมาณกว่า 800 เตียง ซึ่งจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะจะมีผู้ป่วยที่นอนรวมในห้องมากสุดไม่เกิน 3 คน และมีห้องน้ำในตัวเพื่ออำนวยความสะดวก จากเดิมที่จะต้องนอนรวมกันถึง 30 คน โดยอาคารแห่งนี้พร้อมดูแลผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี เฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน และจะพยายามไม่ให้เกิน 6,000 คนต่อวัน เพราะถ้ามากกว่านั้นอาจจะทำให้ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เกิดความเครียดได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ามาใช้บริการตามสิทธิการรักษาได้ทุกสิทธิ ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม

2

“เราพยายามเปลี่ยนมุมมองของโรงพยาบาลภาครัฐที่แออัด เสื่อมโทรมให้มีความใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเอกชน แม้ว่าอาจจะไม่หรูหราเท่า แต่ว่าพื้นที่และความแออัดจะไม่มากเหมือนในอดีต และยังมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้เป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางแพทย์อื่นๆ เพื่อรองรับการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน รวมไปถึงรวบรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเพื่อสร้างนวัตกรรมทางแพทย์ที่ได้มีการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพไปแล้ว” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท ได้ให้บริการผู้ป่วยนอกไปกว่า 2.3 ล้านครั้งต่อปี สามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 200 คนต่อปี ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้ประมาณ 440 คนต่อปี ผลิตพยาบาลได้ประมาณ 250 คน และกำลังจะมีแผนที่จะผลิตเพิ่มเป็น 300 คนต่อปี รวมไปถึงยังฝึกอบรมพยาบาลเชี่ยวชาญต่างๆ อีกด้วย

มากไปกว่านั้นยังมีการผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 40 คนต่อปี ซึ่งถ้ามีพื้นที่มากและดีขึ้นก็ต้องการที่จะผลิตเพิ่มเป็น 60 คนต่อปีเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ รวมไปถึงยังมีการผลิตนักวิทยาศาสตร์สื่อสารความหมายซึ่งมีผลิตแค่ที่นี่ที่เดียวอีกด้วย

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณในการสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธีได้รับงบประมาณที่อนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังพบว่าค่าวัสดุก่อสร้างจะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี ฉะนั้นอาจะทำให้ปิดงบประมาณได้ลำบาก ซึ่งในขณะนี้ยังขาดในส่วนค่าก่อสร้างอาคาร และการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์รวมแล้วประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ฉะนั้นตรงนี้จึงต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีเพื่อช่วยระดมทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอาคารต่อไป

ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธีสร้างขึ้นเพื่อต้องการให้ตอบโจทย์การบริการผู้ป่วยสามัญ และเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีของการรักษาโรคซับซ้อนและก้าวหน้าขึ้นในอนาคต บนแนวคิดเข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

2

อย่างไรก็ดีอาคารดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 โดยกำหนดการคาดว่าจะใช้บริการบางส่วนได้ในปี 2571 และจะเปิดให้ใช้เต็มรูปแบบในปี 2573 โดยลักษณะตึกจะเป็นอาคาร 25 ชั้นและมีตึกด้านข้างอีก 14 ชั้นเป็นส่วนของสำนักงาน ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยภายในตึกไม่ต่ำกว่า 278,000 ตารางเมตร ไม่รวมพื้นที่ประกอบอื่นๆ

“ต้องเรียนว่าแนวคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการประชุม ระดมสมองจากคณะทำงานย่อย ถ้านับแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ครั้งที่เราพยายามที่จะรวมรวมทุกภาคส่วนของบุคลากร และรับฟังความเห็นจากคนไข้ด้วยว่าเราจะออกแบบอย่างไรให้ได้อาคารตอบโจทย์และเข้าใจปัญหาทุกข์ ของคนทุกระดับได้อย่างชัดเจน” ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าว

ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าวว่า สำหรับการออกแบบมีการวางให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีจุดรับส่งผู้ป่วยที่ยาวถึง 140 เมตร มีการจัดระบบคิว รับยา ฯลฯ โดยการใช้เทคโนโลยี หรือนับตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการ และผู้ป่วยสามารถติดต่อเรื่องสิทธิ การแอดมิท หรือการรับส่งต่อได้ภายในจุดเดียว รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เยียวยาทั้งจิตใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า เช่น ห้องผ่าตัด ห้อง ICU ฯลฯ และจะมีการเปิดบริการบางส่วนตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ห้องปฏิบัติการ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องของการประหยัดพลังงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่า 1 หมื่นตารางเมตรเพื่อลดความร้อนของตึก เน้นเรื่องความยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเรื่องมาตาฐานความปลอดภัยระดับสากลอีกด้วย