ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2567 เยี่ยมชมการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้หัวข้อ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในภูมิรัฐศาสตร์การเมือง: การแข่งขัน, ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี (Medical Technology in the Current Geopolitics: Competition, Collaboration, and Technology Transfer)


เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2567 (PMAC 2024) รับฟังสรุปและเยี่ยมชมความก้าวหน้าของการดำเนินงานคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี (ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี) รพ.รามาธิบดี และเหล่าคณาจารย์ฯ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และความก้าวหน้าทางการแพทย์ของ รพ.รามาธิบดีในด้านต่างๆ 

1

4

นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้ที่มา รพ.รามาธิบดี จะเห็นว่าปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์มีผลอย่างมากในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางการแพทย์ ปัจจุบันมีอยู่มากมายและพบว่าเครื่องมือทางการแพทย์มักมาจากประเทศทางฝั่งตะวันตกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่ง รพ.รามาธิบดี ก็มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เช่นกัน ด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ ดังนั้นเราควรพัฒนาตามคลื่นกระแสเหล่านี้ให้ทัน 

ล่าสุดบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดโดยใช้แขนหุ่นยนต์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าโรงพยาบาลต่างๆ จะมีการขยายบริการผ่าตัดด้วยแขนหุ่นยนต์ในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มบัตรทอง และ สปสช. เองมีแผนที่จะให้กลุ่มผู้ป่วยบัตรทองได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ประมาณ 700 ราย นอกจากนี้ สปสช. ยังสนับสนุนการใช้เทคโนโยลีขั้นสูงอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การบำบัดด้วยโปรตอน เป็นต้น 

4

“ล่าสุด สปสช. ได้สนับสนุนผู้ป่วยบัตรทองให้เข้าถึงการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใน รพ. 7 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์และในจำนวนนี้ 6 แห่ง อยู่ที่ กทม. โดยเป็นการผ่าตัดผ่าตัดในส่วนของทางเดินปัสสาวะ และตับอ่อน เป็นต้น ที่มีความแม่นยำในการผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดีฯ ในฐานะผู้ดูแลการผ่าตัดด้วยแขนหุ่นยนต์ กล่าวว่า รพ.รามาธิบดี มีศักยภาพของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่ช่วยในทางการแพทย์ได้มาก ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ ซึ่งคนไข้ที่มารักษาจะเป็นคนไข้ที่มีความซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดด้วยแขนหุ่นยนต์นี้จะให้การรักษาที่ดี ทั้งนี้การใช้แขนหุ่นยนต์ผ่าตัดจะรักษาผู้ป่วยได้ 1-2 คนต่อวัน ส่วนการผ่าตัดโรคที่ไม่ยากมากเช่น มะเร็งถุงน้ำดีและกระเพาะปัสสาวะ สามารถให้การรักษาได้ประมาณ 3–4 คนต่อวัน

1

4

เช่นเดียวกับ ศ.นพ. กิตติณัฐ กิจวิกัย สาขาศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดีฯ กล่าวว่า หุ่นยนต์ผ่าตัดเริ่มพัฒนาโดยมีอเมริกาเป็นผู้นำเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมา รพ.รามาธิบดีได้ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดในคนไข้หลายๆ ราย โดยเฉพากลุ่มมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้าถึงพื้นที่ผ่าตัดได้ลึกกว่า มีความมั่นคงและไม่เหนื่อยล้า ทำให้แพทย์สามรถให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นเครื่องมือที่ทำให้การผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมีศักยภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้จัดนิทรรศการในหัวข้อที่น่าสนใจหลายหัวข้อ เพื่อให้คณะผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2567 ได้เยี่ยมชมตามความสนใจ ประกอบด้วย หัวข้อ Ultrasound hand-held Workshop หัวข้อ Gene Therapy in Hematology CAR T-cell and Thalassemia หัวข้อ Chinese Academy of Science Innovation Cooperation Center Bangkok หัวข้อ United Imaging/Proton Therapy และ หัวข้อ Siemens/GE/Philips

4

ทั้งนี้ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 3 พื้นที่ศึกษาดูงาน ภายใต้หัวข้อ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก: การแข่งขัน, ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเลือกใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การบำบัดด้วยรังสีสามมิติ (SBRT) การบำบัดด้วยโปรตอน และหุ่นยนต์ผ่าตัดดาวินชี รวมไปถึง ความซับซ้อนในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยี