ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ดูการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รพ.สต.บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือผ่านกลไก 3 หมอ พบปี 2565 คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายได้ตามเป้า หลังสื่อสารด้วยการให้ความรู้ ย้ำ หากเจอเร็วมีโอกาสรักษาหาย หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาลสามารถคัดกรองได้ตามสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค


เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ผู้บริหาร นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ ต.ศีรษะกระบือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เพื่อเยี่ยมชมโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ผ่านกลไก 3 หมอ โดยมี พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก นายสามารถ วงษ์ปาน สาธารณสุขอำเภอองครักษ์ (สสอ.องครักษ์) นายจรัล กองจันดา ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ และ ดร.สุเทพ อาญาเมือง หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ศีรษะกระบือ ต้อนรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินงาน

1

นายจรัล กองจันดา ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ เปิดเผยว่า สำหรับปี 2565 การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของ รพ.สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือทำได้ตามเป้าหมาย สามารถตรวจคัดกรองได้ จำนวน 285 คน หรือคิดเป็น 47.03% จากกลุ่มเป้าหมาย 606 คน ซึ่งจากการคัดกรองพบความผิดปกติของเซลล์ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทั้งหมด 17 คน โดยใน 17 คนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. พบว่ามีเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงสูง (HPV 16,18) ที่จะทำให้เป็นมะเร็ง จำนวน 3 คน และ 2. กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในอนาคต จำนวน 14 คน 

อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มเป้าหมายเข้ามาคัดกรองที่ รพ.สต. แล้ว หากเป็นการตรวจแบบ Pap Smear จะส่งสิ่งส่งตรวจไปที่โรงพยาบาลนครนายก ซึ่งเมื่อได้ผลการตรวจ หากมีความผิดปกติก็จะแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบ รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลองครักษ์ และเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครนายก ส่วนการตรวจแบบ HPV DNA Test จะส่งตรวจที่โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี (คลอง10) เมื่อได้ผลการตรวจแล้ว หากมีความผิดปกติจะแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบ และให้รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลองครักษ์เพื่อพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนครนายกต่อไป

นายจรัล กล่าวว่า เดิมทีการจะให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาคัดกรองเป็นเรื่องยาก เนื่องจากประชาชนมีความอาย เพราะมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ และเกิดความกลัวหากตรวจพบว่ามีความผิดปกติ ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ รพ.สต. เปลี่ยนการทำงานใช้การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจว่าการคัดกรองเป็นการป้องกันโรค โดยจะส่งเป็นบัตรเชิญให้มาตรวจตามนัด การตรวจก็ให้เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. อื่นที่เป็นเครือข่ายเข้ามาช่วยเพื่อลดความอาย และในการคัดกรองจะไม่มีการแจกของเพื่อเป็นแรงจูงใจ แต่จะให้ของประชาชนเข้ามาตรวจผ่านการให้ความรู้ของเจ้าหน้าที่ 

2

“บอกให้เขาทราบว่าสุขภาพถ้าตรวจแล้วหมอไม่ได้สุขภาพดี เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีสุขภาพที่ดี แต่คนที่มีสุขภาพดีคือตัวเขา ซึ่งตรงนี้เป็นความห่วงใยจากเราจริงๆ การโทรหาเขาเป็นรายบุคคลถ้ามองในมุมของชาวบ้านเขาจะรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้สึกห่วงใยเขา ไม่ใช่การห่วงใยแบบหว่านไปทั่ว” นายจรัล กล่าว
 
พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2565 จ.นครนายกเน้นการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ และพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไก 3 หมอ ที่ประกอบไปด้วย หมอคนที่ 1 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักบริบาลในชุมชน และครอบครัวเพื่อคัดกรองขั้นพื้นฐาน หากพบความผิดปกติก็จะส่งให้หมอคนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต. และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อยืนยันความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากประเมินแล้วว่าความผิดปกตินั้นอยู่ในระดับเสี่ยง หรือเกิดโรคแล้วก็จะส่งต่อให้หมอคนที่ 3 คือ แพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สสอ.องครักษ์ ร่วมกับ อบต.ศีรษะกระบือ และ รพ.สต.ในพื้นที่จัดทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อน และมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ถือว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่า ตรวจง่าย ไม่เจ็บ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกหากตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ 

3

“ผลงานของ รพ.สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ ในเรื่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกลุ่มเป้าหมายคัดกรอง 606 คน สามารถทำผลงานได้ 285 คน คิดเป็น 47.03% ซึ่งจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าปีละ 20% ถือว่าสูงกว่าเป้าหมาย” พญ.อรรัตน์ กล่าว 

ดร.สุเทพ อาญาเมือง หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต. ศีรษะกระบือ กล่าวว่า อบต.ศีรษะกระบือมีนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ ซึ่งก็ได้มีการสมทบเงินเข้ากองทุน กปท. จำนวนปีละ 1.3 แสนบาทร่วมกับ สปสช. รวมไปถึงสมทบงบประมาณเพื่อใช้ดูแลงานสาธารณสุขด้านอื่นอีกด้วย จากการดูรายงานตามแผนก็พบว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จพอสมควร 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นสิทธิประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับสุภาพสตรีไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา ซึ่งความพิเศษของมะเร็งปากมดลูกหากเจอในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการแพร่กระจาย และได้รับการรักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งควรจะตรวจสม่ำเสมอทุก 5 ปี เพื่อดูความผิดปกติของเซลล์ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปก็มีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใหม่ HPV DNA Test ที่จะเป็นการดูลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ฉะนั้นจะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น และค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างจากการตรวจด้วยวิธีเดิม (Pap Smear) ไม่กระทบต่องบประมาณของภาครัฐมาก 

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับสตรีไทยที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายไว้แล้ว ดังนั้นถือว่าตอนนี้รัฐบาลได้เข้ามาดูแลเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หากอยู่ในเกณฑ์สามารถเข้าสู่กระบวนการได้ทุกคน 

“จากการดูการดำเนินงานของ รพ. สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ จะมีการร่วมมือกับ อสม. ที่รู้จักคนในพื้นที่อยู่แล้ว และก็เป็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งก็จะหนุนเสริมโดยการใช้งบประมาณที่อยู่ในนี้ มาเสริมในเรื่องของการคัดกรอง ก็จะทำให้การคัดกรองของเจ้าหน้าที่ไปยังกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น สะดวกขึ้น จูงใจให้คนเข้าสู่การคัดกรองได้มากขึ้น วิธีการเหล่านี้ใช้ได้ทุกที่ และงบของกองทุน กปท. ก็สามารถใช้ได้ทุกที่เช่นเดียวกัน” ทพ.อรรถพร ระบุ 

4

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ