ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อวานนี้ (6 ต.ค. 2565) ที่ จ.หนองบัวลำภู ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบ ซ้ำร้ายการมุ่งใช้ภาพหรือข้อความเพื่อบรรยายความโหดร้ายของเหตุการณ์จากหลายช่องทาง ยังเปรียบเสมือนการกรีดแผลในใจของพวกเขาให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น

ดังนั้น วินาทีนี้สิ่งที่พวกเขาควรได้รับมากที่สุดคือการกอบกู้ความรู้สึกอันบอบช้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะปัญหาสุขภาพจิต

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการจัดทีมเร่งด่วนเพื่อเยียวยาจิตใจ (MCATT) ในการช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้ดำเนินการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครอบครัวรวมทั้งสิ้น 88 ราย ซึ่งทุกรายยังต้องมีการเฝ้าระวังใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีการให้ ทีม MCATT จะติดตาม ดูแลช่วยเหลือและเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจในพื้นที่ โดยกระจายตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย และกับพัฒนาสังคมและตำรวจในพื้นที่เป็นอาทิ

“ทีมเยียวยาจิตใจ” หรือ Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team (MCATT) นี้มีหน้าที่หลักคือ การปฐมพยาบาลด้านจิตใจของผู้ที่ประสบภาวะวิกฤต “ในภาวะวิกฤต” ซึ่งหมายถึงระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรงหลังจากเกิดเหตุ

มี “จิตแพทย์” หรือแพทย์ทั่วไปที่ได้รับการอบรม MCATT เป็นหัวหน้าทีม 

มี พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะวิกฤต คอยสนับสนุนตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพ

สำหรับกระบวนการให้ความช่วยเหลือการปฐมพยาบาลทางจิตใจ ประกอบด้วย การให้การปรึกษา การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมถึงการประสานส่งต่อแหล่งช่วยเหลือทางสังคมตามสภาพปัญหาของแต่ละบุคคลเพื่อให้สามารถปรับตัว และกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ความสำคัญของการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายไว้ว่า เป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียง ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ดังนั้น ในขณะที่ทุกคนทำอะไรไม่ถูกและไม่สามารถจัดระบบระเบียบความคิดได้ เหมือนกำลังตกลงมาจากหน้าผาสูง ทีม MCATT ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพจะเข้ามาดูแล เข้ามาพูดคุย ให้คำปรึกษา ปลอบประโลม และเติมกำลังใจให้กัน เสมือนหนึ่งเป็นกิ่งไม้ให้คว้ายึดเหนี่ยวไว้

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในครั้งนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปการปฏิบัติหน้าที่ของทีม MCATT และเป็นสิ่งที่เราทุกคนในฐานะคนในสังคมเดียวกันช่วยได้ก็คือ การไม่แชร์หรือส่งต่อภาพต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ ที่อาจเป็นการทำร้ายพวกเขาโดยไม่รู้ตัว