ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในวันที่ 26 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา หากนับเป็นหนึ่งในวันของสัปดาห์วันยุติการตั้งครรภ์โลก หรือ Safe Abortion Day (วันที่ 28 ก.ย. ของทุกปี) ไทยเราก็คงมีเรื่องน่ายินดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์เช่นกัน

เนื่องจากมีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติตั้งครรภ์ ซึ่งกำหนดให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์และมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อนตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นความต่อเนื่องมาจากเมื่อปีที่แล้ว (6 ก.พ. 2564) ที่มี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 โดยแก้ไขให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้โดยอายุครรภ์ต้องเกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ รวมถึงเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่นๆ เพื่อให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ประกอบกับเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 มีราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นกรอบปฎิบัติสำหรับแพทย์ผู้ให้บริการ

รวมถึงต่อมาทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับ ‘ผู้หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา’ สามารถรับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ ทำให้ระบบบริการในหลายส่วนยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดช่องว่างในการให้บริการขึ้น สิทธิที่ประชาชนควรได้รับจึงไม่เป็นไปอย่างที่วาดไว้

ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ทาง RSA THAI และ เครือข่ายท้องไม่พร้อม จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ ช่องว่างของหลักประกันสุขภาพกับสิทธิการทำแท้ง เพื่อสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับระบบบริการที่เกิดขึ้น

สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมและเอดส์ สายด่วน 1663 เปิดเผยว่า ข้อมูลเฉลี่ยของอายุครรภ์ผู้ที่โทรมาปรึกษาครั้งแรก ตั้งแต่ ต.ค. 64 - มี.ค.65 แบ่งเป็นช่วงอายุ ได้แก่ 1. ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 162 ราย 2. อายุระหว่าง 15-20 ปี มีจำนวน 2,595 ราย และ 3. ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป 14,659 ราย ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดโดยมากมีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ รองลงมาคือ 12-20 สัปดาห์ และสุดท้ายอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีผู้ที่ยังไม่ทราบอายุครรภ์ตัวเองก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ด้านจำนวนหน่วยบริการที่ให้บริการยุติตั้งครรภ์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 110 แห่ง ได้แก่ 1. หน่วยบริการที่ให้บริการสำหรับอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ 73 แห่ง 2. หน่วยบริการที่ให้บริการสำหรับอายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ 19 แห่ง 3. หน่วยบริการที่ให้บริการสำหรับอายุครรภ์ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ 7 แห่ง 4. หน่วยบริการที่ให้บริการทุกอายุครรภ์ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ 4 แห่ง และ 5. รอติดตามข้อมูลจากสถานบริการ 7 แห่ง

1

ทว่า จากจำนวน 110 แห่ง นี้ ไม่ใช่ทุกหน่วยบริการจะอยู่ในระบบของ สปสช. ซึ่งมีจำนวนมากที่เรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน รวมถึงจะสังเกตได้ว่าหน่วยบริการนั้นมีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เมื่อแบ่งตามบริการของอายุครรภ์ รวมถึงบางหน่วยบริการมีการตั้งเงื่อนไขเฉพาะขึ้นมา เช่น ให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดเป็นอาทิ

สมวงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา มีหน่วยบริการในระบบตามสิทธิการรักษาที่ปฏิเสธการให้บริการและคำปรึกษา รวมถึงไม่ส่งต่อผู้รับบริการที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ทั้งหมด 180 คน สะท้อนว่าแม้เขาเหล่านี้จะเข้าถึงระบบบริการแต่ยังคงไม่ได้รับบริการที่ควรจะได้รับ

อีกทั้งบางหน่วยบริการที่เป็นโรงพยาบาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นๆ อาจไม่อยากให้บริการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา ฝั่งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่มีความต้องการที่จะให้บริการยุติตั้งครรภ์ แต่ถ้าผู้บริหารไม่เอาด้วย ไม่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. หรือกรมอนามัย ทุกอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

“ระบบบริการสาธารณสุขของเรา การให้บริการยุติการตั้งครรภ์มันไม่นับว่าเป็นระบบการให้บริการ มันกลายเป็นว่าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ” สมวงศ์ ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอีกอย่างคือการอัลตราซาวนด์ เนื่องจากการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ต้องไปหน่วยบริการตามอายุครรภ์ของตนเอง ซึ่งบางหน่วยบริการคิดค่าบริการเพิ่มตั้งแต่ 300-1,800 บาท (แต่ละหน่วยบริการคิดค่าบริการต่างกัน) โดยให้เหตุผลว่าเป็นรายการเบิกจ่ายเฉพาะกรณีฝากครรภ์

ด้าน นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องที่หลายคนกังวลว่าถ้าเกิดระหว่างรับบริการยุติการตั้งครรภ์และต้องได้รับการแอดมิทเป็นผู้ป่วยใน (IPD) จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมเองหรือไม่ ต้องบอกว่าเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการนั้นแล้วจะเป็นเรื่องสิทธิการรักษาของแต่ละคน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม มีการรองรับค่าใช้จ่ายอยู่แล้วโดยเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละสิทธิ

ฉะนั้น ช่องว่างที่จะเหลืออยู่คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และชาวต่างชาติที่ย้ายมาอาศัยในประเทศไทย ในส่วนแรงงานข้ามชาติแม้บางส่วนจะอยู่ในสิทธิประกันสังคม แต่การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ยังคงทำได้ยาก แม้จะมีหนังสือยืนยันว่าสิทธิประโยชน์ของ สปสช. จะครอบคลุมไปถึงก็ตาม

นพ.นิธิวัชร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคนไทยเองถึงจะมีบริการยุติการตั้งครรภ์ แต่การเข้าถึงก็ยังไม่ง่ายเช่นกัน เช่น ปัญหาการกระจายของหน่วยบริการ ค่าเดินทาง ฯลฯ รวมถึงเรื่องสิทธิการรักษาก็ยังมีข้อจำกัด เช่น โรงพยาบาลในบางสิทธิการรักษาไม่ยอมส่งต่อเป็นอาทิ และนอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ยังมีเรื่องของการสนับสนุนหลังยุติการตั้งครรภ์สำเร็จ เช่น การเยียวยารักษาทางจิตใจ หรือสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นในแง่ของหน่วยบริการเอง บางทีอาจติดเงื่อนไขภายในทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ เช่น เภสัชกรไม่ยอมเบิกยาให้ หรือห้องบัตรไม่ยอมส่งต่อมา ฯลฯ

“ผู้หญิงบางคนท้องแล้วรู้ว่าแฟนทิ้ง แล้วเขาหาเงินมาเป็นค่าเดินทางไม่ได้ เพราะค่าบริการ สปสช. จ่ายให้อยู่แล้ว โดยที่เขาไม่ต้องจ่ายเพิ่ม บางคนถึงกับต้องไปขายบริการทางเพศชั่วคราวเพื่อที่จะได้เงินมาส่วนหนึ่งในการยุติการตั้งครรภ์ มันก็เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพอสมควร” นพ.นิธิวัชร์ อธิบาย