ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดเผยผลสำรวจ “ตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญ” ในพื้นที่ กทม. ครอบคลุม 33 เขต พบไม่มีใบอนุญาต-ไม่ทำความสะอาดอื้อ


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 โดยเนื้อหาช่วงหนึ่งของการเสวนาได้ระบุถึงปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณภาพน้ำดื่มของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้สำรวจตู้กดน้ำระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขต ใน กทม. โดยพบว่า มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึง 1,380 ตู้ หรือคิดเป็น 90% ของกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ยังพบตู้กดน้ำที่ไม่มีฉลากระบุตรวจไส้กรอง 1,334 ตู้ คิดเป็นกว่า 87.2% และตู้กดน้ำที่ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นกว่า 91%

สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ เป็นเพราะเจ้าของสถานที่ซึ่งติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาต หรือบางแห่งก็เป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เท่านั้น รวมถึงบางกรณีเจ้าของสถานที่ซื้อตู้ต่อกันมาอีกทีและไม่มีทั้งใบอนุญาตและการทำความสะอาด โดยเข้าใจว่าบริษัทที่ติดตั้งตู้จะมาทำความสะอาดให้

นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาทำการตรวจสอบ ทั้งที่ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มในราคาที่ถูก ซึ่งหากไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอที่ยื่นต่อผู้ว่าฯ กทม. ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน

2. ออก “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม รวมถึงให้มีบทลงโทษ 3. ขอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อร่วมขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางมารับข้อเสนอภายในงาน พร้อมกล่าวว่า ขอบคุณที่ทางสภาองค์กรผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคเปิดโอกาสให้มารับฟังปัญหาพร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา โดยทุกเรื่องที่ได้รับการสะท้อนกลับมาในวันนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะภาคประชาชนมีความตื่นตัวที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ยืนยันว่าการทำงานของภาครัฐต้องทำเพื่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการแก้ไขปัญหาต้องรวมตัวกันเช่นนี้ เพราะหากแยกกันทำย่อมไม่มีพลังเหมือนไม้ซีก ปัญหาใหญ่จึงยิ่งต้องรวมตัวกัน” นายชัชชาติ ระบุ