ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพมหานคร นับเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศราว 5.5 ล้านคน และยังมีประชากรแฝงทั้งที่เข้ามาทำงานและอาศัยอีกจำนวน 2.5-3 ล้านคน เมื่อมองลึกลงไปในมิติสุขภาพพบว่าในเมืองหลวงที่ศิวิไลซ์แห่งนี้ยังมีประชากรจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ แม้ว่าจะมีสิทธิคุ้มครองโดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ที่ครอบคลุมการดูแลก็ตาม

จากข้อมูลการเข้ารับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองใน กทม. พบว่า อัตราการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกอยู่ที่เพียง 1.7 ครั้งต่อคนต่อปีเท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 3.4 ครั้งต่อคนต่อปี สะท้อนให้เห็นปัญหาการเข้าถึงบริการ เมื่อวิเคราะห์พบว่าสาเหตุหลักมีอยู่ไม่กี่ประการ นั่นคือการกระจายตัวของหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลยังเป็นปัญหา เนื่องจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่เป็นด่านหน้าในการดูแลสุขภาพประชาชนที่มีอยู่ 300 แห่งทั่ว กทม. ในจำนวนนี้ 30 แห่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนอีก 270 แห่งรอบนอก รวมศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 69 แห่ง ภาพรวมยังมีไม่เพียงพอ ทำให้บางเขตมีหน่วยบริการมาก ขณะที่บางเขตไม่มีเลย การเข้ารับบริการจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร

นอกจากนี้ในการจัดบริการ หน่วยบริการส่วนใหญ่จะเปิดบริการตามเวลาราชการ แต่วิถีชีวิตคนในเมืองที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำให้เมื่อเจ็บป่วยหรือต้องการรับบริการสุขภาพต้องลางาน ทำให้เกิดความไม่สะดวก

1

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร รับทราบข้อมูลปัญหาเหล่านี้ ที่ผ่านมาจึงได้เร่งบริหารจัดการและพัฒนาระบบบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม.

เริ่มจาก “หน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5” ที่เป็นรูปแบบบริการใหม่ภายใต้ระบบบัตรทอง ที่เปิดให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ทุกแห่ง โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่ายบริการ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกเวชกรรมเป็นลูกข่าย ทลายข้อจำกัดในอดีตที่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้เข้ารับบริการเฉพาะหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น โดยในส่วนค่าบริการ สปสช. ได้ปรับให้เป็นการเบิกจ่ายตามรายการบริการ (fee schedule) ที่ครอบคลุมกว่า 4,000 รายการ ทั้งในด้านรักษาพยายาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยได้เริ่มให้บริการแล้ว

“หน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5 นี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งทันที”

พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้เปิดรับสมัครหน่วยบริการรูปแบบใหม่ โดยรับสมัคร “คลินิกเวชกรรม” เข้ามาเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม” หรือเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้กับคน กทม. โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีหน่วยบริการปฐมภูมิไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีแพทย์ส่วนหนึ่งที่เปิดคลินิกให้การรักษาในช่วงเวลาเย็นหลังจากดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลแล้ว บางแห่งเปิดถึง 2 ทุ่ม แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาในการเปิดทำการให้ไม่สามารถร่วมให้บริการในระบบบัตรทองได้ สปสช.จึงได้ดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การสมัครรองรับ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของหน่วยบริการของระบบและเป็นบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมือง

2

ขณะเดียวกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันที่มีความก้าวหน้า ยังส่งผลให้การบริการทางการแพทย์มีการปรับโฉมใหม่เช่นกัน โดย สปสช. เปิดสิทธิประโยชน์บริการระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการรับบริการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลและติดตามต่อเนื่อง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งจะเป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ให้มีประสิทธิภาพบริการ และมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการจัดบริการคลินิกที่ปั๊มน้ำมัน การตั้งตู้บริการสุขภาพพบแพทย์ผ่านระบบทางไกลในชุมชนและห้างสรรพสินค้า 

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิใน กทม.นั้น กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่หลักของพื้นที่ในการดำเนินการเพื่อให้ประชากร กทม. ให้ได้รับบริการที่ดี และเป็นที่น่ายินดีที่ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้พร้อมรับเป็นเจ้าภาพออกแบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้กับคน กทม. เบื้องต้นได้มีการจัดทำรถโมบายยูนิเพื่อให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ สปสช.จะเข้าไปร่วมมือพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิกับกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับการบริการสุขภาพที่และมีประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคน กทม.    

ทั้งนี้คลินิกเวชกรรมใน กทม.ที่สนใจ ดูรายละเอียดการสมัครได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th หรือไปที่ลิงค์ https://www.nhso.go.th/downloads/179