ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โอ๋ คือชื่อจริงที่ไม่มีนามสกุลของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แม่ของเธอเป็นชาวมะริด เดิมอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา แต่ต่อมาได้อพยพมาอยู่ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2530 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมในเมียนมาขณะนั้นยากต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต 

แม่ของโอ๋เข้ามาผ่านช่องทางนอกกฎหมายโดยขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งในส่วนนี้กล่าวได้ว่าพวกเขาคือ ‘เหยื่อ’ ของธุรกิจดังกล่าวที่ยังคงเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากปี 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ ธ.ค. 2463 - ธ.ค. 2564 มีแรงงานชาวต่างชาติลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 4 หมื่นคน 

1

พ่อแม่และครอบครัวของโอ๋ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีสถานะ ‘ไร้รัฐไร้สัญชาติ’ เพราะไม่เคยได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรเมียนมา อันทำให้รัฐบาลเมียนมาไม่อาจรับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาให้ ส่วนโอ๋และพี่ชายก็เกิดในประเทศไทย แต่นอกโรงพยาบาล จึงไม่มีเอกสารรับรองการเกิดโดยทางราชการไทย ขณะที่โดยทั่วไปพวกเขาจะถูกควบคุมตัวโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และถูกผลักดันให้ออกจากประเทศ แต่ว่าไทยในขณะนั้นมีความเข้าใจในสถานการณ์ทางสังคมการเมืองของประเทศต้นทาง

อีกทั้งกฎหมายไทยก็สามารถทำให้บุคคลที่มีสถานะไร้รัฐได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีรัฐได้ รวมถึงสถานะไร้สัญชาติก็เช่นกัน ถ้าบุคคลนั้นๆ สามารถระบุประเทศต้นทางได้ และเข้ารับการส่งตัวกลับเพื่อพิสูจน์สัญชาติ สถานะดังกล่าวก็จะหายไป เพราะไทยเรามีข้อตกลงในการทำกระบวนการดังกล่าวกับประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา 

2

ที่จริงประเทศไทยก็มีแนวคิดที่จะขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ว่าเขาจะมีประเทศต้นทางหรือไม่มีประเทศต้นทางก็ตาม ก็คือถ้าเราแสวงหาประเทศต้นทางได้เหมือนพ่อแม่โอ๋ที่เขาบอกได้ว่าตัวเองมาจากเมียนมานะ มันก็จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพิสูจน์สัญชาติ แล้วก็ทำให้เกิดการเข้าเมืองถูกกฎหมาย และก็สามารถทำงานในประเทศได้อย่างถูกต้อง ได้รับประกันสังคม ได้รับสวัสดิการที่เขาควรจะได้ดร.ศิวนุช สร้อยทอง อดีตนักกฎหมายวิชาชีพประจำโครงการบางกอกคลินิกนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบัน ทำงานเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายคลินิกกฎหมายเพื่อคนเปราะบาง กล่าว

ในปี 2560 ทุกคนในครอบครัวของโอ๋จึงได้รับการรับรองสัญชาติเมียนมา รวมถึงหนังสือเดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปีเดียวกันนั้นพวกเขาเลือกเดินทางกลับไปอาศัยที่เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศแม่ของพวกเขาด้วยเหตุผลภายในครอบครัว

ทว่า “โอ๋” เลือกที่จะไม่กลับไปยังเมียนมาและพิสูจน์สัญชาติเมียนมา เธอให้เหตุผลว่า หนูคิดว่าตอนนั้นหนูมีความคิดเหมือนผู้ใหญ่ เลยตั้งคำถามว่าหนูกลับไปประเทศเมียนมา แล้วจะทำอะไร เพราะหนูโตมาจากที่นี่ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เริ่มต้นลืมตาดูโลกจนถึงปัจจุบัน หนูเรียนหนังสือ อนุบาล ประถม มัธยมจนถึงตอนนี้อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าหนูกลับไปประเทศเมียนมา จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ 

การขึ้นทะเบียนแรงงานสัญชาติเมียนมากับกระทรวงแรงงานของรัฐบาลไทยพร้อมบุพการี ทำให้โอ๋มีสถานะกลายเป็น “ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” 

3

อย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือของ เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดร.ศิวนุช สร้อยทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายคลินิกกฎหมายเพื่อคนเปราะบาง และ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ทำเรื่องขอรับรองจากทางราชการไทย เพื่อเปลี่ยนสถานะของโอ๋ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ หรือ ‘ผู้ไม่มีประเทศต้นทาง’

ทั้ง 3 คนยังเป็นผู้ให้โอกาสสำคัญต่อโอ๋ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘เคท’ อาจารย์ผู้เป็นดั่งแม่อีกคนของโอ๋ “บ้านหนูเป็นบ้านที่จนมาก เพราะฉะนั้นการเข้าถึงมหาลัยได้เป็นเรื่องที่ยากมาก ที่นี้พอหนูสมัครมาที่ธรรมศาสตร์ หนูสมัครและผ่าน แต่หนูไม่มีเงิน อาจารย์เคทเป็นคนสัมภาษณ์หนู ตอนนั้นหนูคิดว่าหนูจะเรียนเท่าที่หาเงินจากงานพาร์ทไทม์ได้ ถ้าหนูเงินหมดก็ไม่เรียนแล้ว แต่อาจารย์เคทหาช่องทางทุนการศึกษาให้หนู จนหนูได้ทุนทั้งจากของคณะ จากมหาวิทยาลัย แล้วก็หางานวิจัยให้หนูทำเป็นรายได้เสริม และที่สำคัญที่สุดคือการร่วมต่อสู้จนหนูได้หนังสือรับรองการเกิดมา” โอ๋ กล่าว

การผลักดันให้โอ๋ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนไทยยังเป็นภารกิจที่ รศ.เกศีนี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความสำคัญและพยายามทำให้เสร็จสิ้นก่อนโอ๋สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นการขอรับรองสัญชาติไทยด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือ การสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย โดยโอ๋ได้สร้างคุณงามความดี ในการส่งมอบโอกาส ให้การช่วยเหลือ และส่งแรงบันดาลใจให้กับเด็กข้ามชาติผ่านการทำงานอาสาสังคมสงเคราะห์ตามที่เธอได้มุ่งมั่นเล่าเรียนอยู่ในปัจจุบัน

4

แม้ว่าในทางกฎหมายเมื่อจบการศึกษาโอ๋ก็สามารถนำใบปริญญาไปรับรองการถือสัญชาติไทยได้ก็ตาม อันเป็นผลจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ธ.ค. 2559 ซึ่งในส่วนนี้ คนทำงานวิชาการในธรรมศาสตร์เองก็มีส่วนผลักดันอย่างสำคัญเช่นกัน

ทั้งนี้ หนังสือรับรองการเกิดจะเป็นสิ่งที่จะรับรองการได้รับสัญชาติไทย เพื่อนำไปสู่การทำบัตรประชาชน ซึ่งจะทำให้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่พึงมีในฐานะคนไทยคนหนึ่งได้

สำหรับคนอื่นการมีบัตรประชาชนอาจไม่ได้สลักสำคัญมากเท่าไหร่นัก แต่สำหรับโอ๋มันมีเรื่องราวความสุขและความทุกข์ที่ต้องเผชิญตลอดการเดินทางตั้งแต่เกิดจนมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงเป็นแสงแห่งอนาคตที่จะทำให้เธอมอบความช่วยเหลือให้กับคนอื่นๆ ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ได้อย่างภาคภูมิใจยิ่งขึ้น  

“ถ้าเราเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ให้กับคนในมหาลัยต่างๆ มันจะได้กระตุ้นให้มหาลัยอื่นๆ ดูแลเด็กไร้สัญชาติ เหมือนที่ธรรมศาสตร์ได้ดูแล แม้กระทั่งในเคสของหม่องทองดีก็ตาม แม้ไม่ใช่คนของเราทางธรรมศาสตร์เราก็ดูแลรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าว

2

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ บอกอีกว่า แม่ที่ยิ่งใหญ่คือประเทศไทย มีหลายคนเข้าใจผิดว่าไทยพึ่งมีเป้าหมายว่ามนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตอนมีอนุสัญญาสิทธิเด็ก แต่แท้จริงแล้วมีมานานกว่านั้นมาก เพียงแต่พึ่งมีการคิดค่าหัวการศึกษา ฉะนั้นในปี 2548 ธรรมศาสตร์และเครือข่ายวิชาการเพื่อเด็กไร้สัญชาติจึงได้พูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ส่งค่าหัวการศึกษาให้กับโรงเรียน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาโรงเรียนจึงไม่มีปัญหาในการจะให้ทุกคนเรียนฟรีอย่างเท่าเทียมกัน 

นอกจากนี้ บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นการย้ำให้เห็นถึง ‘จิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์’ ที่สอนให้ ‘รักประชาชน’  

มาถึงตรงนี้แล้วคงกล่าวได้ว่าปัญหาจริงๆ สำหรับผู้คนที่มีสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ และ ‘ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย’ ต่างหากที่เป็นช่องว่างในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ