ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบเดินหน้าร่วม “ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม.” เห็นชอบข้อเสนอเร่งพัฒนาระบบบริการ หนุน “ผู้ว่าฯ กทม.” รุกนโยบายดูแลสุขภาพคน กทม. พร้อมมอบ สปสช. เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ประสาน กทม. ร่วมขับเคลื่อนขยายการให้บริการ ระบุกลไกกองทุนบัตรทองพร้อมรองรับ


พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝง มีจำนวนกว่า 7.8 ล้านคน จากข้อมูลระบบสุขภาพพบว่า เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มากที่สุด จำนวน 3.59 ล้านคน รองลงมาเป็นสิทธิประกันสังคม 3.4 ล้านคน สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 6.4 แสนคน และสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น 6.7 พันคน แม้ว่าจะมีความครอบคลุมในสิทธิประกันสุขภาพแล้ว แต่การเข้าถึงบริการโดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิยังค่อนข้างจำกัด ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 

ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและจัดการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน โดยได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้รับทราบและเห็นชอบดำเนินการ โดยข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิฯ มีดังนี้ 

1

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ที่เป็นข้อสรุปจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สปสช. โดยให้ บอร์ด สปสช. สนับสนุนงบประมาณและออกแบบระบบการเงินที่ส่งเสริมศักยภาพของระบบบริการปฐมภูมิ ที่มุ่งเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินผู้ให้บริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ การจัดเครือข่ายบริการให้คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ, การปรับงบสนับสนุนบริการปฐมภูมิ ทั้งในส่วนของงบบริการผู้ป่วยนอก งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และงบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการระดับปฐมภูมิ ให้จ่ายตามกิจกรรมบริการแก่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนทุกแห่ง 
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (อปสข.) กทม. ในการเพิ่มบทบาทการพิจารณาเห็นชอบการจ่ายงบประมาณบัตรทองในพื้นที่ กทม. ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับพื้นที่  (PPA) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน ( P&P Basic service )

“บอร์ด สปสช.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิ เขตพื้นที่ กทม. ข้างต้นแล้ว พร้อมกันนี้ได้มอบให้ สปสช. เร่งกระบวนการขยายหน่วยบริการทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน และประสาน กทม. ในการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ อีกทั้งกำกับควบคุมคุณภาพบริการ เพิ่มกลไกและเร่งรัดการตรวจสอบการจ่าย” 

2

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า จากนโยบายของทางผู้ว่าฯ กทม. สปสช.จะมีการปรับกลไกการเบิกจ่ายเพื่อ 
สนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิให้กับคน กทม. ซึ่งจากที่ได้พิจารณาในหลายๆ ประเด็นพบว่าระบบการจ่ายค่าบริการของ สปสช. มีความสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และดำเนินการได้เลย สำหรับส่วนของการสนับสนุนการเพิ่มหรือขยายศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

“ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แล้วก็กระทรวงการคลังมานานแล้ว สำหรับงบประมาณว่าจะทำยังไงให้ประชาชนใน กทม. เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มากที่สุด เพราะ กทม. มีคนเกือบ 8 ล้านคน อย่างไรก็ตามในส่วนของ สปสช. เองเราเชื่อมั่นว่า ระบบที่เราออกแบบการจ่ายตามประกาศ สปสช. เพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบปฐมภูมิ กทม. ภายใต้ทิศทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ กทม. และพร้อมจะมีการปรับรูปแบบการจ่าย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชน กทม. เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับ กทม. และทุกภาคส่วน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ