ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าประชากรประเทศอื่น แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ และต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่า

นั่นเพราะรูปแบบระบบประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ยังหลังพิงกับบริษัทประกันสุขภาพเอกชน โดยรัฐบาลลดบทบาทตัวเองเป็นเพียงผู้กำกับตลาดประกันสุขภาพเท่านั้น จึงไม่แปลกที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดของสหรัฐฯ จึงสูง เมื่อเทียบกับประเทศรายได้สูงอื่นๆ

ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่สามารถจ่ายค่าประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชน จึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีเมื่อติดโรค

งานวิจัยชิ้นใหม่จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งศึกษาความรุนแรงของผลกระทบจากโรคระบาดในสหรัฐอเมริกา ต่อกลุ่มประชากรที่ไม่มีประกันสุขภาพ ชี้ว่าหากสหรัฐฯ มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะสามารถช่วยชีวิตคนจากโรคโควิดได้หลายแสนคน

ทีมนักวิจัยเปรียบเทียบความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคโควิดและโรคอื่นๆ ระหว่างคนที่มีและไม่มีประกันสุขภาพ พบว่า 131,438 คนอาจไม่ต้องเสียชีวิตจากโรคโควิดในปี 2563 และอีก 2 แสนคน อาจไม่ต้องเผชิญสภาพเดียวกันในปี 2564

ในภาพรวม หากชาวอเมริกันเข้าถึงประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะช่วยชีวิตคนได้ประมาณ 338,000 คน ในระหว่างปี 2563 ถึง มี.ค. 2565

นอกจากนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยให้สหรัฐฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากโรคโควิดมากถึง 3.7 ล้านล้านบาท/ปี และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั่วๆ ไปได้มากถึง 15.3 ล้านล้านบาท/ปี

การลดค่าใช้จ่ายนี้ หลักๆ มาจากการเพิ่มเม็ดเงินและประสิทธิภาพการจัดการโรคที่ป้องกันได้ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการจัดการ และเพิ่มอำนาจต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์กับบริษัทเอกชน โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ ควรมีผู้จ่ายเพียงคนเดียว หรือมีองค์กรทำหน้าที่ประกันสุขภาพให้กับประชากร

เช่นในกรณีของประเทศไทยที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช. ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการจากสถานพยาบาล นอกจากจะทำให้เกิดการเข้าถึงประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงแล้ว ยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ป่วยในการเรียกร้องบริการที่มีคุณภาพอีกด้วย

“การปฏิรูประบบสุขภาพในสหรัฐฯใช้เวลานานเกินไป ในระหว่างนั้น ชาวอเมริกันต้องสูญเสียทั้งชีวิตและต้นทุนทางเศรษฐกิจ” Alison Galvani ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์และสร้างแบบจำลองด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยเยล กล่าว

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ระบบสุขภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยชีวิตผู้คนได้มหาศาล และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย”

1

ชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ มักจะเข้าไม่ถึงแพทย์ปฐมภูมิ และเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ ทั้งยังต้องรอเข้าคิวพบแพทย์นานกว่าคนที่มีประกันสุขภาพ จึงทำให้สหรัฐฯ มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ค่อนข้างสูง ผู้ป่วยเสี่ยงมีโรคมากกว่าสองชนิด ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน และเกิดการส่งผ่านเชื้อสู่ผู้อื่น หากผู้ป่วยใช้ระยะเวลานานในการรอพบแพทย์

ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด ชาวอเมริกันมากกว่า 28 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ สถานการณ์ย่ำแย่ลงในช่วงโรคระบาด ซึ่งผู้ไม่มีประกันเพิ่มขึ้นมาอีก 9 ล้านคน เพราะลูกจ้างตกงาน และไม่มีประกันสุขภาพจากนายจ้าง

Galvani เห็นว่าระบบสุขภาพของสหรัฐฯที่ผูกประกันสุขภาพไว้กับการว่าจ้างงาน ทำให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงขาดประกัน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

“งานวิจัยชี้ชัดว่าระบบหลักประกันสุขภาพที่มีผู้จ่ายรายเดียว คือความจำเป็นทางความรับผิดชอบและศีลธรรมที่สหรัฐฯต้องมี” Galvani กล่าว

งานวิจัยของ Galvani และทีมได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากวงนักวิชาการ รวมทั้งจาก Robert Reich ศาตราจารย์ด้านนโนยายสาธารณะ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ซึ่งให้ความเห็นว่างานวิจัยน่าเชื่อถือ และใช้วิธีการวิจัยที่เหมาะสม

Ann Keller ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายและการจัดการสุขภาพ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ เชื่อว่าการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตที่หลีกเลี่ยงได้อาจสูงกว่าที่งานวิจัยเสนอ เพราะงานวิจัยไม่ได้วิเคราะห์กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

“การเข้าถึงบริการสุขภาพสามารถป้องกันโรคเรื้อรัง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการโรคได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงเสียชีวิต หากงานวิจัยรวมกลุ่มผู้ป่วยนี้เข้าไปด้วย จำนวนคนที่หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตได้จะสูงขึ้นอีก” Keller กล่าว

อ่านบทความฉบับเต็มที่
https://www.scientificamerican.com/article/universal-health-care-could-have-saved-more-than-330-000-u-s-lives-during-covid/