ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรณรงค์ “งดเหล้า เข้าพรรษา” เป็นกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญที่สุดกิจกรรมหนึ่งในประเทศไทยที่มีการรณรงค์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติของการที่นักดื่มร่วมเปลี่ยนพฤติกรรมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาพบว่า ในระยะหลังการร่วมกิจกรรมงดเหล้าของนักดื่มไทยลดลงเรื่อยๆ หากดูจากสัดส่วนนักดื่มที่งดเหล้าได้จนครบพรรษาพบว่า สัดส่วนนักดื่มที่งดเหล้าได้จนครบพรรษาในปี พ.ศ.2558 เท่ากับ 32.2% ลดลงมาเป็น 30.2% ในปี พ.ศ.2561 และเหลือ 12.9% ในปี พ.ศ.2564

ร้อยละของนักดื่มที่งดเหล้าได้ครบตลอดเข้าพรรษา

รูปภาพที่ 1 ร้อยละของนักดื่มที่งดเหล้าได้ครบตลอดเข้าพรรษา

เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดสัดส่วนของนักดื่มที่ร่วมกิจกรรม งดเหล้าเข้าพรรษา จึงลดลงอย่างรวดเร็ว ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่ดำเนินการสำรวจโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจและศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เพื่อหาคำตอบของการลดลงดังกล่าว

การศึกษาได้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจปี พ.ศ.2558 พ.ศ.2561 และ พ.ศ.2564 กลุ่มตัวอย่างรวม 3 การสำรวจ 14,942 คน โดยทีมวิจัยได้เลือกเฉพาะข้อมูลจากผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 5,898 คน มาวิเคราะห์เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการงดเหล้าได้ครบตลอดเข้าพรรษาที่ลดลง

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการงดเหล้าได้ครบตลอดเข้าพรรษา ประกอบด้วย เพศหญิง การมีรายได้ต่อเดือนสูง การดื่มนานๆ ครั้ง และการรับสื่อรณรงค์ของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา

สำหรับปัจจัยที่สัมพันธ์กับแนวโน้มที่ลดลงของนักดื่มที่งดเหล้าได้ครบตลอดเข้าพรรษา คือ สัดส่วนของนักดื่มประจำ (ผู้ที่ดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) เพิ่มมากขึ้น และสัดส่วนผู้ที่ได้รับสื่อรณรงค์ของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่ลดลง

ทั้งนี้ สัดส่วนของนักดื่มประจำเพิ่มขึ้นจาก 30.5% ในปี พ.ศ.2558 มาเป็น 48.0% ในปี 2564 และสัดส่วนผู้ที่ได้รับสื่อรณรงค์ของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาลดลงจาก 91.4% ในปี พ.ศ.2558 มาเป็น 74.1% ในปี พ.ศ.2564

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การลดลงของการได้รับสื่อรณรงค์ของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาอาจมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากความหลากหลายของช่องทางและรูปแบบของการสื่อสารที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยที่แต่ละสื่อมีความจำเพาะต่อประชากรเป้าหมายแต่ละกลุ่มมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารที่อาจเรียกว่าสื่อกระแสหลักนั้นไม่ได้เข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวางอย่างในอดีต(3)ดังนั้น รูปแบบในการจัดทำสื่อรณรงค์จึงควรมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นและจำเพาะต่อแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และสื่อสารผ่านสื่อทุกช่องทางเท่าที่ทำได้เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อให้การรณรงค์ยังคงส่งผลช่วยลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทางสุขภาพ

เอกสารอ้างอิง

1. de Visser RO, Robinson E, Bond R. Voluntary temporary abstinence from alcohol during “Dry January” and subsequent alcohol use. Health Psychol Off J Div Health Psychol Am Psychol Assoc. 2016 Mar;35(3):281–9.

2. Saengow U. Drinking abstinence during a 3-month abstinence campaign in Thailand: weighted analysis of a national representative survey. BMC Public Health. 2019 Dec 16;19(1):1688.

3. Nelson-Field K, Riebe E. The impact of media fragmentation on audience targeting: An empirical generalisation approach. J Mark Commun. 2011 Feb 1;17:51–67.