ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ป่วย “ไวรัสตับอักเสบซี” ทั่วโลกอยู่ที่ 71 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยถึง 8 แสนคน และผู้ป่วยก็มีแนวโน้มเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

ความอันตรายของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้น จะทำให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรัง และหากปล่อยให้ตับอักเสบเรื้องรังนานๆ ก็จะทำไปสู่ภาวะตับแข็ง และลงท้ายด้วยกลายเป็นมะเร็งตับซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทยอีกด้วย

นั่นทำให้ประเทศไทยตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ (ทั้งบีและซี) ให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การคัดกรองผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอาจต้องมุ่งไปที่กลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก โดยที่หนึ่งในนั้นก็คือ “กลุ่มผู้ต้องขัง”

“The Coverage” จึงอาสาทุกคนมาพบกับ นพ.โอฬาร วิวัฒนาช่าง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ และผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกอุดรธานี โรงพยาบาลอุดรธานี เพื่อก้าวผ่านกำแพงมาพูดคุยถึงความพยายามของ “หมอโรคตับ” รายนี้ที่จะคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีให้แก่ “ผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำกลางอุดรธานี”

ผู้ต้องขังทุกคนได้คัดกรอง ผู้ป่วยทุกคนได้รักษา

นพ.โอฬาร เล่าว่า โดยปกติแล้วในเรือนจำจะมีโครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข” ที่มีการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพราะผู้ต้องขังก็ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับผู้ที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น กลุ่มชายรักชาย ผู้ที่มีการสัก การเจาะตามร่างกาย จึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปคัดกรองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ทั้งนี้ ด้วยโครงการที่เรียกว่า “Screen All Treat All” จะทำการคัดกรองผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดด้วยการเจาะเลือด เพราะที่ผ่านมาการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีจะคัดกรองแค่บางส่วนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพทั้งหมดได้ว่าผู้ต้องขังรายใดมีหรือไม่มีเชื้อ ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ติดขัดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันการคัดกรองในครั้งนี้ยังจะรวมการตรวจหาเชื้อ HIV ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี ร่วมด้วย

“ตัวเลขคร่าวๆ เราคัดกรองอยู่ที่ประมาณเกือบ 4,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พบติดเชื้อราว 48 ราย” นพ.โอฬาร ให้ภาพ

จากนั้นเมื่อทราบถึงจำนวนผู้ป่วยแล้ว ขั้นตอนถัดมาก็จะนำผู้ป่วยทุกคนเข้าสู่การรักษา ด้วยการทานยาต่อเนื่องกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นในอีก 3 เดือนเมื่อสิ้นสุดการรักษา ก็จะมีการเจาะเลือดผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อดูว่าโรคหายขาดแล้วหรือไม่ ซึ่ง 95% ของผู้ที่ทำการรักษาสามารถหายขาดได้

อีกภาพหนึ่งที่ถูกสะท้อนให้เห็น คือยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในขณะนี้ มีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดไวรัสได้ค่อนข้างดี ผลข้างเคียงต่ำ และที่สำคัญใช้ได้ในทุกสิทธิการรักษา เพราะเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือ “จ (2)”

อันที่จริงแล้วเดิมทีไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะสามารถเข้าถึงยานี้ได้ เพราะการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติก็จะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยต้องมีคะแนนพังผืดสูงในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงอาจไม่ได้ถูกใช้ในการรักษาทุกคน

ทว่าสถานการณ์ในวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฯ ได้พิจารณาให้จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่แรกๆ ในการนำร่องให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี “ทุกคน” สามารถเข้าถึงยาได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หมอโรคตับรายนี้ นำนโยบายดังกล่าวเข้าไปใช้กับผู้ป่วยในเรือนจำ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในเมื่อเขาก็เหมือนประชาชนทั่วไปที่เขามีไวรัสตับอักเสบซี และในเมื่อคัดกรองทุกคนก็ต้องรักษาทุกคน

นพ.โอฬาร ย้ำว่า การรักษาเร็วย่อมเป็นผลดีกับผู้ป่วย เพราะเมื่อตับไม่มีเชื้อ ไม่อักเสบ ก็จะไม่เกิดตับแข็งและมะเร็งตับตามมา ข้อถัดมาคือยังส่งผลดีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะหากผู้ป่วยหายแล้วก็จะไม่แพร่ให้กับผู้ต้องขังคนอื่นในเรือนจำ เนื่องจากเรือนจำมีความแออัด หรืออาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ

“เมื่อเขาไม่มีไวรัสตับอักเสบซี เขาก็จะไม่แพร่ให้คนอื่น และเป็นผลดีต่อประชากรภายนอก เมื่อผู้ต้องขังที่รักษาไวรัสตับอักเสบซีหาย เมื่อออกจากเรือนจำไปสู่โลกภายนอก เขาก็ไม่เอาไวรัสตับอักเสบซีที่ติดตัวเข้าอยู่ไปแพร่ให้คนข้างนอกด้วย” หมอโรคตับรายนี้ ให้มุมมอง

ก้าวข้ามกำแพงเรือนจำด้วยระบบ “Telemedicine”

“เรื่องตลกเรื่องหนึ่ง คือในตอนแรกที่เข้าไปผมก็จะมองหาประตู หาทางหนีทีไล่อยู่เรื่อยๆ เผื่อมีปัญหาจะได้วิ่งถูก” นพ.โอฬาร เล่า พร้อมกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานกับผู้ต้องขัง โดยระบุว่าส่วนตัวแล้วต้องขอบคุณโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ที่พระองค์ท่านมีความเมตตากับผู้ต้องขัง พร้อมให้ทำการรักษาเหมือนคนทั่วไป และในฐานะพสกนิกรคนหนึ่งก็อยากจะช่วยกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่สังคมไม่ค่อยให้ความสนใจ อาจเพราะด้วยความกลัวหรือทัศนคติบางอย่าง ในขณะที่ความจริงแล้วเขาก็คือสมาชิกในสังคมเหมือนกัน 

“พอได้เข้าไปจริงๆ ผมก็รู้สึกว่าเรือนจำกลางอุดรธานีค่อนข้างเป็นระเบียบ สะอาด ดูไม่น่ากลัวเหมือนภาพในสมองของเรา” คำบอกเล่าของหมอโรคตับรายนี้ ที่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมองหาทางหนีทีไล่อีกแล้ว

มากไปกว่านั้น นพ.โอฬาร ยังระบุด้วยว่า โดยปกติแพทย์ พยาบาล จะมีความเมตตาต่อผู้ป่วยอยู่แล้ว และได้คิดต่อไปถึงวิธีที่จะทำให้แพทย์ พยายาล คนอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่เคยดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำมาก่อน ให้สามารถรักษาผู้ป่วยในเรือนจำได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเรือนจำ นั่นก็คือการใช้ “Telemedicine”

สำหรับระบบ Telemedicine ในเรือนจำกลางอุดรธานี ความจริงแล้วเกิดขึ้นมาได้ราว 2-3 ปีก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ หากแต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเสมือนเป็นภาคบังคับที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถเข้าไปในเรือนจำได้ และ Telemedicine ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการติดตามอาการของผู้ป่วยในเรือนจำ เดือนละ 1 ครั้ง

ขณะเดียวกันในการติดตามอาการทุกครั้ง ทีมแพทย์และพยาบาลเองก็จะให้ความรู้กับผู้ป่วยด้วย เพราะโรคไวรัสตับอักเสบซี ไม่ได้หมายความว่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคถาวร แต่สามารถกลับมาเป็นได้อีกแม้จะหายแล้ว ซ้ำร้ายหากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว การกลับมาติดเชื้อใหม่ก็อาจจะทำให้เชื้อดื้อยาได้

การคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ยังไม่ได้มีให้ทุกคน

นพ.โอฬาร เล่าด้วยว่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่จะได้รับการคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี ตามสิทธิประโยชน์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มี 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีเชื้อ HIV ในร่างกาย ซึ่งตามสิทธิประโยชน์แล้วสามารถคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีได้ปีละ 1 ครั้ง

ส่วนกลุ่มถัดมาคือกลุ่มที่ไม่มีเชื้อ HIV ในร่างกาย แม้จะสามารถคัดกรองได้ แต่การจะส่งเบิกคนนั้นจะต้องตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น หากมีการเจาะเลือด 100 คน แล้วพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 5 คน ก็จะสามารถเบิกได้แค่ 5 คน

นั่นทำให้หมอโรคตับรายนี้ มองเห็นว่าปัญหานั้นอยู่ที่การคัดกรองคนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งยังไม่มีการรณรงค์ให้คัดกรองในคนไทยทุกคน รวมไปถึงเงื่อนไขในการใช้ยาจากบัญชียา จ (2) ด้วย

“เรื่อง screen all สำหรับประชาชนทั่วไป คงต้องมีนโยบายประเทศที่แข็งขันจริงๆ ในการที่จะให้ประชาชนได้เจาะเลือดหาไวรัสบี ซี ถ้ามีข้อมูลมากขึ้นผู้กำหนดนโยบายอาจจะเห็นความสำคัญในจุดนี้” นพ.โอฬาร ระบุ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่มของนักโทษแล้ว พนักงานเก็บขยะเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่แพทย์รายนี้ให้ความสนใจในการตรวจคัดกรอง เพราะมีความเสี่ยงที่จะโดนเข็มหรือของมีคมทิ่มแทงระหว่างทำงานได้ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีการตรวจเลือดอยู่แล้ว แต่ก็สามารถเข้าไปช่วยดูได้ว่ามีใครติดเชื้อหรือไม่ เพราะหากมีก็จะได้นำส่งเข้าสู่การรักษา

เสนอแนวทาง รพ.ชุมชน จ่ายยาได้

อีกหนึ่งสิ่งที่ นพ.โอฬาร คิดต่อเพื่อลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี นั่นก็คือการสร้างระบบ แนวทางให้แก่โรงพยาบาลชุมชนที่แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาตัวนี้ได้ เพราะเงื่อนไขตามบัญชียา จ (2) ระบุว่าแพทย์ที่มีสิทธิสั่งยาตัวนี้ได้ จะต้องเป็นแพทย์อายุรศาสตร์โรคตับ หรือแพทย์อายุรศาสตร์ที่งานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามในโรงพยาบาลชุมชนก็มักจะเป็นแพทย์จบใหม่ หรือแพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป

“หมอตามโรงพยาบาลชุมชนเขาจะไม่สามารถสั่งยาตัวนี้ได้ ทำให้เมื่อเจอผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี เขาก็จะต้องส่งมาโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีเพื่อที่จะได้รับยา” นพ.โอฬาร อธิบายจุดติดขัด

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเกิดช่องว่างขึ้น เมื่อผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อก็อาจจะมาได้ หรือมาไม่ได้บ้าง รวมไปถึงเรื่องค่าเดินทาง ทำให้ต้องมองกลับด้านก็คือนำยาตัวนี้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน และจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลศูนย์

“เราต้องทำความเข้าใจตกลงกับ สปสช. ว่าให้แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนส่งข้อคนไข้มาให้ผม เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยรายนี้มีเงื่อนไขเข้ากันได้กับยา จ (2) จริง ผมก็จะอนุมัติและสั่งยาไปให้หมอในโรงพยาบาลชุมชน โดยที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลศูนย์” หมอโรคตับรายนี้ เสนอแนวทาง

ในช่วงท้าย นพ.โอฬาร ยังได้เล่าต่อถึงอีกเป้าหมายหนึ่ง คือการเป็นต้นแบบของการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีให้แก่เรือนจำอื่น เพราะเรือนจำกลางอุดรธานีแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถคัดกรองผู้ต้องขัง และสามารถให้ยาผู้ป่วยได้ทุกคน โดยที่การตรวจเยี่ยมหรือติดตามผู้ป่วยก็ไม่ได้รบกวนแพทย์ พยาบาล มากนักเพราะมีระบบ Telemedicine ซึ่งหากสามารถนำไปปรับใช้กับเรือนจำอื่นๆ ก็จะทำให้การดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น