ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัดวรนาถบรรพต (พระอารามหลวง) เปิดตัว “คัมภีร์ สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นำร่อง อ.ป.ต. 24 แห่ง ใช้พลังบวร สื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับคณะสงฆ์ และประชาชนในพื้นที่ 


เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย พิณเมืองงาม ประธานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่วัดวรนาถบรรพต (พระอารามหลวง) ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการหน่วยอมรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) และรับฟังธรรมเทศนา “คัมภีร์สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” 

พระราชรัตนเวที รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าอาวาสวัดวรนาถบรรพต (พระอารามหลวง) เปิดเผยว่า วัดวรนาถบรรพต เป็นหนึ่งใน 24 หน่วยจาก 129 หน่วยในพื้นที่ที่เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต) จัดตั้งผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวิถีพุทธ เพื่อการสื่อสารสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับคณะสงฆ์และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 4 แผนงาน 7 โครงการ ใช้ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 โดยจะเริ่มนำร่อง 24 หน่วยในปี 2565 

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ “คัมภีร์สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิให้แก่พระสงฆ์ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมเผยแพร่ธรรมเทศนาผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และถือได้ว่าจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดนำร่องที่นำพลังบวรเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ 

“วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน หน่วย อ.ป.ต. 1 หน่วยจะมีวัดในสังกัดราว 5-6 วัด ก็จะให้พระสงฆ์ในเทศน์ให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง เป็นการกระจายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนผ่านกลไกพระสงฆ์ และวัด ซึ่งก็จำให้ประชาชนรับรู้เรื่องของสิทธิตัวเองมากขึ้น” พระราชรัตนเวที ระบุ 

พระราชรัตนเวที กล่าวว่า นอกเหนือจากการจัดตั้งหน่วย อ.ป.ต. และแสดงธรรมเทศนาแล้ว ยังมีการส่งเสริมการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัด และประชาชนในพื้นที่เบื้องต้น โดยการอมรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากศูนย์อนามัยที่ 3 ที่ผ่านการจัดอบรมให้ความรู้แก่พระ อสว. มาแล้ว 3 รุ่น กระจายครบทั้งหมดใน 15 อำเภอ 

นพ.ชาญชัย พิณเมืองงาม ประธาน อคม. เขต 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ อคม. คือการดูแลมาตรฐานบริการสาธารณสุข แต่อีกหนึ่งจุดสำคัญคือให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และเข้าถึงสิทธิ ฉะนั้นการที่มีศูนย์ประสานงาน หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่จะสามารถทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ควรจะมีจำนวนมากขึ้น 

สำหรับการสร้างความร่วมมือเครือข่ายพระสงฆ์ในงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหนึ่งในแผนงานของอคม.เขต 3 นครสวรรค์ เพราะพระสงฆ์มีทั้งความรู้และประชาชนให้ความเคารพนับถือซึ่งก็จะทำให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น มากไปกว่านั้นหากประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นก็จะเกิดการพัฒนาบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นตามมาด้วย 

นพ.ชาญชัย กล่าวต่อไปว่า ในพื้นที่เขต 3 โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ถือว่าเป็นที่แรกที่มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิรายการสิทธิประโยชน์ และพระสงฆ์ในจังหวัดก็ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งก็จะขยายโครงการเหล่านี้ให้ได้ทั้งจังหวัดภายในระยะเวลา 3 ปี 

“ระหว่างปีก็จะมีการลงพื้นที่อยู่เป็นระยะในหน่วยที่เป็นศูนย์ประสานงานของจังหวัดของ สปสช. ซึ่งเราจะเข้ารับฟังปัญหา ดูเรื่องการทำงานว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตอนนี้หน่วยที่เกิดขึ้นในวัดมีจำนวนมากขึ้น เดิมที่มีไม่มากนักแต่เมื่อขยายโดยเครือข่ายพระสงฆ์ ทำให้ศูนย์ฯ เหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น เราก็คงต้องติดตามในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องความรู้ที่จะสื่อสารให้แก่ประชาชน” นพ.ชาญชัย ระบุ 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การที่พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองและเผยแพร่ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น สอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ปี 2560 ที่มีเป้าหมาย คือ ส่งเสริมให้พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข และการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่มีอุปสรรคขวางกั้น ถือว่าเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างหนึ่งของคนไทย 

อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังได้เห็นว่าพระราชรัตนเวที ใช้พระพุทธศาสนาขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ฯ โดยในหมวดที่ 2 ของธรรมนูญดังกล่าวระบุถึงการที่ดูแลตัวเองของพระสงฆ์ หมวดที่ 3 ระบุว่า ประชาชนจะดูแลสุขภาพพระสงฆ์ได้อย่างไร หมวดที่ 4 ระบุว่าด้วยพระสงฆ์จะเป็นผู้นำด้านสุขภาพอย่างไร และในหมวดที่ 5 ที่ระบุถึงการปฏิบัติ ซึ่ง สปสช.จะมีการสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง คาดหวังให้เป็นต้นแบบให้กับเขตอื่นๆ ต่อไปด้วย

“วันนี้จะเห็นว่าพระคุณเจ้ามีกุศโลบายหลายอย่าง เช่น การทำพระคัมภีร์เป็นตัวอย่าง เวลาพระจะเทศนาที่ไหนก็มีพระคัมภีร์เขียนไว้เลยว่าประชาชนจะดูแลสุขภาพอย่างไร ญาติโยมจะถวายอาหารอย่างไร” 

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันวัดวรนาถบรรพต ยังได้จัดพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้บุกเบิกและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกด้วย 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ