ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Paula Byrne นักวิจัยจากกลุ่มงานยาและสุขภาพ ภายใต้ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ในไอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (RCSI University of Medicine and Health Sciences)

ได้เผยแพร่บทความงานวิจัย ซึ่งตั้งคำถามต่อ “การจ่ายยาลดไขมันในเลือด” ในทุกวันนี้ว่ามีการจ่ายยามากเกินพอดีหรือไม่ และยาช่วยลดไขมันเลว หรือคอเลสเตอรอลชนิด LDL (Low density lipoprotein) ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองได้มากเพียงไร

ยาลดไขมันในเลือดเริ่มใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจครั้งแรกในปี 2530 จนกระทั่งวันนี้ ยาชนิดนี้ใช้อย่างแพร่หลาย มีมูลค่าการขายยาทั่วโลกอยู่ที่ 32 ล้านล้านบาทในปี 2564

นอกจากนี้ ข้อปฏิบัติทางการแพทย์ยังเพิ่มลักษณะ และประเภทผู้ป่วยที่สามารถรับยาลดไขมันในเลือด พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่รับยาเพิ่มขึ้นถึง 600% ในระหว่างปี 2530 และ 2559

เพื่อตอบข้อสงสัย Byrne และทีมนักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากการทดลองทางคลีนิคที่ผ่านมา 21 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมการทดลองรวม 140,000 คน

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า แม้ยาลดไขมันในเลือดช่วยลดไขมันเลวได้จริง แต่ก็ไม่เสมอไปในทุกกรณี การรับยาลดไขมันในเลือดไม่ได้แปรผันตามความเสี่ยงโรคในผู้ป่วยทุกราย

Byrne และทีมนักวิจัยยังวิเคราะห์ค่าตัวเลขที่ใช้ในผลสรุปการทดลอง ซึ่งสะท้อนว่า การกินยาลดไขมันในเลือด อาจไม่ได้ลดความเสี่ยงโรคมากเท่าที่หมอและผู้ป่วยคิด

ทีมวิจัยดูสองค่าตัวเลขหลัก คือ ค่าการลดความเสี่ยงสัมบูรณ์ ค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบ สามารถอธิบายความแตกต่างของสองค่านี้ผ่านตัวอย่าง ดังนี้

หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพราะโรคหนึ่งอยู่ที่ 0.2% และมียาที่ช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ 0.1% ค่าการลดความเสี่ยงสัมบูรณ์จะอยู่ที่ 0.1% (เอา 0.2 ลบด้วย 0.1) ส่วนค่าการลดความเสี่ยงแบบเปรียบเทียบจะอยู่ที่ 50% (เอา 0.2 ลบด้วย 0.1 เท่ากับว่าลดความเสี่ยงครึ่งหนึ่ง หรือลดลง 50%)

ผลการทดลองส่วนมากมักใช้ค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบ ซึ่งมักให้ค่าสูง จูงใจให้หมอจ่ายยามากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องการยามากขึ้น

การศึกษาของทีมวิจัย Byrne พบว่าการทดลองหนึ่งใช้ค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบ รายงานว่าผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงหัวใจวายได้ 29% โรคหลอดเลือดสมอง 14% และลดการเสียชีวิตจากสองโรคได้ 9% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่กินยา

แต่หากดูค่าการลดความเสี่ยงแบบสัมบูรณ์แล้ว พบว่าผู้ป่วยที่กินยาลดความเสี่ยงหัวใจวายได้ 1.3% โรคหลอดเลือดสมอง 0.4% และลดการเสียชีวิตจากสองโรค 0.8%

ขณะที่อีกงานวิจัยชี้ว่า หมอมักจ่ายยาให้ผู้ป่วยมากขึ้น เมื่อเห็นค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบ ส่วนผู้ป่วยเองก็มีแนวโน้มอยากรับยามากขึ้น ดังที่เห็นในการทดลองหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มอยากเข้าร่วมการทดลองมากกว่า เมื่อเห็นค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบ

นอกจากนี้ รายงานวิจัยสรุปผลการทดลองส่วนมากมักใช้ตัวเลขภาพรวม มากกว่าที่จะดูผลลัพธ์การกินยาชี้เฉพาะรายบุคคล ทั้งที่ผู้เข้าทดลองแต่ละคนมีสภาวะสุขภาพและรูปแบบการใช้ชีวิตต่างกัน

เช่น น้ำหนักและอายุต่างกัน พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ค่าความดันเลือดและคลอเรสเตอรอลเดิมที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อความเสี่ยงเป็นโรคไม่เหมือนกัน และปฏิกิริยาต่อยาต่างกัน

จากผลการศึกษาของ Byrne และทีมวิจัย จึงมีข้อเสนอต่อหมอและผู้ป่วย ให้หารือร่วมกันในการจ่ายยา โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และเข้าใจผลกระทบของยาก่อนที่จะจ่ายยา เพราะหากดูแต่ค่าการลดความเสี่ยงเปรียบเทียบแล้ว อาจทำให้หมอและผู้ป่วยคาดหวังประสิทธิผลของยาเกินความเป็นจริง

นอกจากนี้ ควรพิจารณาความคุ้มค่าของการให้ยาด้วย โดยเฉพาะการให้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคน้อย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มภาระการซื้อและกินยาแล้ว อาจได้รับประโยชน์จากการกินยาไม่มากนัก

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่
https://theconversation.com/benefits-of-statins-may-have-been-overstated-new-study-175557