ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายก อบต. บุ่งคล้า เตรียมทุ่มงบ กปท. ปี 2565 หนุนศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส ลดปัญหาช่องปาก-ปรับพฤติกรรมการบริโภคหวาน จ่อเริ่มโครงการแก้ไขปัญหาสายตาเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เยี่ยมชมโครงการ “ศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส” อ.บุ่งคล้า ต.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ โดยมี นายนริศ อาจหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า (อบต.บุ่งคล้า) นางนุชวรา ดอนเกิด เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลบุ่งคล้า และภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับ 

นายนริศ อาจหาญ นายก อบต.บุ่งคล้า เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้าร่วมกับฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลบุ่งคล้าร่วมกับครูผู้ดูแลเด็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้สูงอายุในพื้นที่จัดทำโครงการ “ศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านบุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นว่าวัยเด็กเล็กจะมีปัญหาทางช่องปาก เช่น ฟันผุ-ปวดฟัน ฯลฯ 

ทั้งนี้ โครงการศูนย์เด็กอ่อนหวานฯ ได้รณรงค์ให้เด็กแปรงฟันแห้งหลังอาหารกลางวันทุกวันทุกคน โดยจะมีฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลบุ่งคล้าเป็นผู้สอน ให้ความรู้แก่ครู-ผู้ปกครอง และตรวจฟันทาฟลูออไรด์วานิชปีละ 2 ครั้ง 

นายนริศ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนทั้งสิ้น 82 คน  ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ทาง อบต.บุ่งคล้า ให้ความสำคัญและจัดทำโครงการศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใสต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดหวานทำให้เกิดฟันผุ แล้วเกิดโรคอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และรุนแรงไปสู่โรคไตวายในที่สุด
สำหรับปี 2565 ศูนย์เด็กพัฒนาเด็กเล็กบ้านบุ่งคล้าจะเริ่มโครงการด้านสุขภาพตาในเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาได้รับการรักษาและแก้ไข้ โดยจะเพิ่มงบประมาณจาก กปท. ให้ศูนย์เด็กเล็กฯ เป็นจำนวนเงินอีก 20,000 บาท เพื่อเป็นการพัฒนาฟันและสายตาของเด็กในอนาคต 

 นางนุชวรา ดอนเกิด เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลบุ่งคล้า กล่าวว่า จากการออกปฏิบัติงานในศูนย์เด็กเล็ก อ.บุ่งคล้าเมื่อปี 2554 ทั้งหมด พบปัญหาฟันผุในเด็กช่วงอายุ 3 ปี ถึง 76.42% ของเด็กทั้งหมดในศูนย์เด็กเล็ก นอกจากนี้ยังพบอีกว่ามีศูนย์เด็กเล็กใน อ.บุ่งคล้า จำนวน 50% เท่านั้นที่ปลอดขนม และมีการแปรงฟันให้เด็กเพียงบางวันในบางศูนย์เท่านั้น รวมไปถึงยังพบอีกว่าเด็กมีพฤติกรรมติดขวดนม และขนมหวานซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ 

 ทั้งนี้ จึงได้ร่วมกับ อบต.บุ่งคล้า และภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการศูนย์เด็กอ่อนหวานฯ โดยมีวัตถุประสงค์ลดการบริโภคน้ำตาลในศูนย์เด็กเล็ก ลดการติดขวดนม เสริมสร้างพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก รวมไปถึงจัดอบรมครูผู้ดูแลเด็ก-จัดทำสื่อสอนการตรวจฟันเด็ก-ให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสุขศึกษาปีละ 1 ครั้ง

นางนุชวรา กล่าวว่า ส่วนตัวจะมีการคืนข้อมูลให้แก่ผู้ปกครองของเด็กในทุกวันสำคัญ เพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไข-ดูแลได้อย่างตรงจุด รวมไปถึงมีการเชิญผู้ปกครองของเด็กที่มีปัญหาฟันผุมากและผู้ปกครองของเด็กที่ไม่มีฟันผุมาแลกเปลี่ยนเปลี่ยนกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าพฤติกรรมและสุขภาพฟันของเด็กดีขึ้นมาก

“ผลการทำงานที่ผ่านมาพบว่าในเด็กฟันผุลดลงทุกปี ในปี 2562 พบว่ามีเด็กฟันผุเพียง 48.53% ปี 2563 29% ปี 2564 27.60% และความภาคภูมิใจของเราก็คือมีโอกาสได้นำเสนอ Asian Conference of Oral Health Promotion for School Children ที่ประเทศเวียดนาม และประเทศไต้หวัน” นางนุชวรา กล่าว 

  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีเงินกองทุน กปท. ซึ่งเป็นงบประมาณที่ สปสช. และท้องถิ่นนำมาใช้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งทาง อบต. บุ่งคล้าก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณจาก กปท. เพื่อใช้เป็นการอบรม-สอนครู เพื่อให้ครุสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสอนเด็กอีกครั้ง

“อย่างแรกสอนให้เด็กลดพฤติกรรม การบริโภคหวาน และสอนให้เด็ก แปรงฟันแห้งหลังอาหารกลางวัน ซึ่งการแปลงในลักษณะนี้ ทำให้ฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟัน จะติดอยู่ในปากได้นาน เพราะเราไม่ต้องบ้วนน้ำตาม เนื่องจากฟลูออไรด์ทำให้ฟันที่เริ่มจะผุกลับมาแข็งแรงได้” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการโครงการศูนย์เด็กอ่อนหวาน อนุบาลยิ้มใส ของ อบต.บุ่งคล้า ถือเป็นแบบอย่างโครงการที่ดี เพราะมีการจัดกิจกรรมอย่างครอบคลุมเพื่อลดปัญหาฟันผุให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ รวมถึงแก้ปัญหาเด็กติดหวานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเป็นโรคอ้วนในอนาคต ถือว่าตอบโจทย์การจัดตั้ง กปท.  
  
 “จริงๆ กองทุน กปท. สิ่งที่เราอยากเห็นและเราก็ได้เห็นเนืองๆ คือนวัตกรรม สิ่งที่เราเห็นการจัดการ การสอนเด็กแปรงฟัน สอนเด็กอ่อนหวานคือหนึ่งในนวัตกรรม แต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน เรื่องฟันที่นี่ทำได้ดี และก็ได้รับรางวัลได้ถูกเชิญไปต่างประเทศด้วย ดังนั้นใครสนใจจะทำโครงการเหมือนที่นี่มีตัวอย่างโครงการไว้ที่เว็บไซต์ สปสช.” ทพ.อรรถพร กล่าว