ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำ “แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation (HI) ฉบับปรับปรุงล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

ตอนหนึ่งของแนวปฏิบัติ ระบุว่า ช่วงปลายปี 2564 พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ในวงกว้าง พบว่าอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะเวลาสั้นๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2 - 3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย

ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่น ขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วัน แล้วยังมีอาการควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ได้หากไม่มั่นใจระยะเวลาที่เหมาะสมในการหยุดแยกตัว หลังจากนั้น แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยและระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่ (new normal)

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีอาการหนักในช่วงแรก อาจจะแพร่เชื้อได้นานถึง 20 วัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นจนกลับบ้านได้แล้วมักจะพ้นระยะแพร่เชื้อแล้วจึงไม่ต้องแยกตัว

สำหรับคำแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นั้น อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน 1. เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ 2. มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษาและสามารถควบคุมได้ตามดุลพินิจของแพทย์ 3. อายุน้อยกว่า 75 ปี 4. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

ในส่วนของการดำเนินการของโรงพยาบาล 1. ให้ดำเนินการติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยโทรแจ้ง 1330 2. ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ 3. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์แยกกักตัวที่บ้าน 4. แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้กับผู้ติดเชื้อ 5. ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้ออย่างน้อยวันละครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิและวัดระดับออกซิเจนในเลือดทุกวัน ผ่านระบบการสื่อสาร

6. เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นให้มีระบบนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล 7. ระหว่างติดตามอาการของผู้ป่วยแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสมตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะตามข้อมูลและสถานการณ์

สำหรับเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล 1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียล ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ 3. Oxygen Saturation น้อยกว่า 94% 4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ 5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารได้น้อยลง

อ่านแนวปฏิบัติฉบับเต็มได้ที่ : https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25650105180407PM_80ปีHomeIso.pdf