ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ไมเกรน” เป็นโรคที่สมองมีความไวต่อสิ่งแวดล้อมสูง แสดงออกมาด้วยอาการปวดหัวที่มีความรุนแรง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาแพ้แสง นอกจากจะสร้างความทรมานยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย โดยไมเกรนจัดเป็นโรคที่ทำให้คนต้องหยุดพักงานมากที่สุดในโลก

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนที่เป็นไมเกรนสูงถึง 10 ล้านคน และครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นไมเกรนรักษาไม่สำเร็จ โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้การรักษาไม่สำเร็จ ได้แก่ การขาดองค์ความรู้ ขาดการสร้างสังคมแลกเปลี่ยนความรู้ และการเข้าไม่ถึงแพทย์

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย บอกเล่ากับ “The Coverage” ว่า ไมเกรนถูกจัดเป็นไลฟ์สไตล์ ดีซีส (Lifestyle Disease) เป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรม สิ่งกระตุ้น มีส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์

คนไทย 1 ใน 7 เป็นไมเกรน จึงได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Smile Migraine ขึ้นมา ก็เพื่อให้คนไข้ไมเกรนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขและยิ้มได้ นอกจากนี้ Smile Migraine ยังช่วยแก้ปัญหาที่ทำให้การรักษาคนไข้ไมเกรนไม่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่อง การขาดองค์ความรู้ ขาดการสร้างสังคมแลกเปลี่ยนความรู้ และการเข้าไม่ถึงแพทย์ ได้ด้วย

“การขาดองค์ความรู้ หมายถึง คนไข้ไม่รู้ว่าปวดหัวขนาดไหนต้องกินยา ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นยังไง ต้องปฏิบัติตัวยังไง ไม่ให้เป็นรุนแรงมาก ส่วนใหญ่ทราบแค่ว่าปวดหัวไมเกรนก็กินยา เลยทำให้เป็นเรื้อรัง” ผศ.นพ.สุรัตน์ อธิยาย

ในแอปพลิเคชัน Smile Migraine จะมีไมเกรนไดอารี่ ให้คนไข้บันทึกอาการ ยา และสิ่งกระตุ้น แล้วระบบจะมีการประมวลผล บอกได้ว่าอาการที่เป็นมากน้อยแค่ไหน โดยการจัดระดับอาการ 1-5

ถ้าระดับ 1-2 รับประทานยาแก้ปวดก็เพียงพอ ถ้าระดับ 3 ขึ้นไปต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแพทย์จะให้ยาป้องกัน ทำให้อาการปวดหัวไมเกรนลดลง

นอกจากนี้ ไมเกรนไดอารี่ยังทำให้คนไข้ทราบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องกินยาอะไรเท่าไหร่ และยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อพบสิ่งกระตุ้นได้ด้วย

ในแอปพลิเคชัน Smile Migraine ยังมีการสร้างสังคมในการแลกเปลี่ยนความรู้ ไมเกรนคอมมูนิตี้ พัฒนาต่อยอดมาจากกลุ่มเฟซบุ๊ก Smile Migraine ชุมชนออนไลน์ของคนที่มีปัญหาไมเกรน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 130,000 คน และมียอดคนเข้าเยี่ยมชมต่อเดือนมากกว่า 1 ล้านคน

“คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการไมเกรนคอมมูนิตี้ได้ภายในเดือนหน้า ทุกคนสามารถเข้ามาแชร์ประสบการณ์ แนะนำเรื่องยา ชวนไปออกกำลังกาย แนะนำการรับประทานอาหาร มีคอร์สดูแลรักษาสุขภาพที่จัดขึ้นมาโดยคนในชุมชน ร่วมกันสร้างสังคมสุขภาพ ปลอดไมเกรน” ผศ.นพ.สุรัตน์ ระบุ

สำหรับข้อแตกต่างของไมเกรนคอมมูนิตี้ ใน Smile Migraine กับกลุ่มเฟซบุ๊ก คือผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาเรียนรู้ข่าวสารไมเกรนได้เลย โดยมีการออกแบบเพื่อคนไข้ไมเกรนโดยเฉพาะ ในการรักษาตามมาตรฐานโรค การแชร์เรื่องราว การสร้างกลุ่ม จะช่วยทำให้คนไข้ไมเกรนดีขึ้น

ผศ.นพ.สุรัตน์ ระบุอีกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่ถึง 500 คน ขณะที่คนเป็นไมเกรนมีมากถึง 10 ล้านคน Smile Migraine จึงมีบริการให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้ผ่านการอบรม ตลอด 24 ชั่วโมง และในปีหน้าจะมีการนำ Tele-medicine มาใช้ เพื่อให้คนไข้สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้โดยตรง

Smile Migraine จึงไม่ใช่แค่เพียงแอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาไมเกรน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงง่าย มีการเชื่อมต่อคน เชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญ แต่ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากงานวิจัยเพื่อรักษาไมเกรน อาทิ หมอน อาหารเสริม แว่นกรองแสง น้ำมันหอมระเหยลดอาการปวดหัว

“เป็นไมเกรนอย่าปล่อยดูดาย เพราะหลายคนปล่อยดูดายแล้ว ความยากต่อการรักษามากขึ้น กินยามากขึ้น จนกลายเป็นติดยา คุณภาพชีวิตเสีย กลายเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด เสียการเสียงาน

“ขอแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Smile Migraine สามารถปรึกษาผู้เชียวชาญที่ได้รับการอบรมเฉพาะโรคไมเกรนมา สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการรักษา อยากให้เข้ามาแชร์ข้อมูลความรู้กับคนอื่น ที่เป็นไมเกรนเหมือนกัน ต่อไปการเข้าถึงแพทย์จะง่ายขึ้น” ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ระบุ