ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดูเหมือนว่าการคืนแสงสว่างให้กับผู้พิการทางสายตาที่ต้องอยู่กับความมืดมิดอาจจะพบกับความหวังใหม่แล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยมิเกลเฮอนันเดซ ประเทศสเปน ร่วมมือกับสถาบันประสาทวิทยาประเทศเนเธอแลนด์ และศูนย์จักษุ จอห์น เอ โมแรน มหาวิทยาลัยยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างการมองเห็นจำลองในหญิงพิการทางสายตาด้วยการฝังอุปกรณ์เข้าไปในสมอง

ในรายงานเรื่อง “Visual percepts evoked with an Intracortical 96-channel Microelectrode Array inserted in human occipital cortex” เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Clinical Investigation เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2021 ได้เผยถึงผลจากห้องทดลองในเมืองเอลเช่ ประเทศสเปนที่ได้ทำการนำขั้วไฟฟ้าเข้าไปจัดเรียงในสมองของอาสาสมัครหญิงพิการทางสายตาวัย 58 ปี และทดลองสร้างการมองเห็นจำลองขึ้นมา

นี่เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของวิทยาทางการแพทย์ที่จะรักษาหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดของการแพทย์ นั่นก็คือการยับยั้งความพิการต่าง ๆ

กระบวนการที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้คือการผ่าตัดนำขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กเข้าไปอยู่ที่เปลือกสมองส่วนการมองเห็น (Visual Cortex) เพื่อเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาท จากนั้นก็ให้อาสาสมัครทำการใส่แว่นตาที่มีการติดตั้งกล้องวิดีโอพิเศษที่จะนำภาพเข้ารหัสส่งเข้าไปสู่ขั้วไฟฟ้าที่อยู่ในสมอง

ซึ่งขั้วไฟฟ้าก็จะแปลงภาพที่เข้ารหัสไปเป็นกระแสไฟฟ้าและส่งเข้าสู่สมอง และสร้างจุดขาวของแสงที่เรียกว่า “ฟอสฟีน” (Phosphenes) หรือการเห็นแสงโดยไม่มีแสงจริง ๆ เข้ามาในตา เพื่อสร้างภาพขึ้นมาให้มองเห็นทางสมอง ไม่ได้มาจากดวงตาจริง ๆ

สำหรับอาสาสมัครทดลองหญิงวัย 58 ปีที่ถูกเลือกมาเข้าร่วมการทดลอง เธอเป็นอาจารย์วิทยาศาตร์ที่ตาบอดสนิทมานานกว่า 16 ปี และได้รับการตรวจสุขภาพว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ จากการผ่าตัด ที่สำคัญคือเธอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยอีกด้วย

และหลังจากได้รับการผ่าตัดนำอุปกรณ์เข้าไปอยู่ในสมอง อาสาสมัครเริ่มสามารถ “มองเห็น” เส้น รูปร่าง และตัวหนังสือ จากการกระตุ้นผ่านขั้วไฟฟ้า และเพื่อให้เธอมองเห็นได้ดีขึ้น ทีมวิจัยได้สร้างวิดีโอเกมจากการ์ตูน “The Simpsons” มาช่วยให้ปรับตัวกับฟอสฟีนที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมองของเธอ

เอดูอาโด้ เฟอร์นันเดซ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ผลของการทดลงนี่มันน่าตื่นเต้นเอามาก ๆ เพราะว่ามันแสดงให้เห็นทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีการที่เหล่าบรรดาผู้คนในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างเฝ้าใฝ่ฝันถึงมานานแสนนาน นี่เป็นการแปลงโลกภายนอกเข้าสู่เปลือกสมองส่วนการมองเห็นของผู้พิการทางสายตาโดยตรง และรื้อฟื้นการมองเห็นให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง”

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการทดลองครั้งนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายอย่างในการทดลองครั้งนี้ที่เรายังไม่รู้หรือหาคำตอบไม่ได้ และยังต้องตามหาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการสร้างฟอสฟีนขึ้นในเปลือกสมองส่วนการมองเห็น ก่อนที่จะเริ่มต้นนำการค้นพบนี้ไปใช้ในการรักษาผู้คนทั่วไป”

พี โรเอลฟ์เซมา อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัยก็ได้กล่าวว่า “งานชิ้นนี้คือหลักชัยสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การรักษาอาการพิการทางสายตาในผู้คนทั้งหลายได้”

และอีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัยอย่าง อาร์ เอ นอร์มัน ก็เสริมอีกว่า “เป้าหมายสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือการทำให้ผู้พิการทางสายตามีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เทคโนโลยีนี้สามารถที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถที่จะระบุอะไร ๆ รอบตัวเขาได้ เช่นระบุตัวบุคคล ประตู รถ หรืออื่น ๆ ทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยตนเองและมีชีวิตที่ปลอดภัยมากขึ้น เราหวังเป็นอย่างมากที่จะให้งานชิ้นนี้เป็นอย่างนั้น”

ขั้นต่อไปของการทดลอง ทีมวิจัยหวังว่าจะสามารถนำระบบการเข้ารหัสภาพที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาใช้ร่วมกับขั้วไฟฟ้าในสมอง เพื่อให้ “การมองเห็นจำลอง” ที่จะเกิดขึ้นมีความสมบูรณ์มากกว่าเดิม

อ้างอิง
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211020140018.htm
https://nin.nl/scientists-enable-a-blind-woman-to-see/
http://jci.org/articles/view/151331
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34665780/
https://www.technologynetworks.com/neuroscience/news/brain-implant-helps-blind-woman-see-simple-shapes-355012