ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นข้อถกเถียงกันอย่างหนักมาตลอดหลายปีถึง “ความปลอดภัย” ของ “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือ  “บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” ที่ว่ากันว่าจะกลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญและปลอดภัย ช่วยให้ผู้สูบ “เลิกบุหรี่มวน” ได้ 

แต่จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารทางสาธารณสุข กฎหมาย และคดีความ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ของ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ด้านกฎหมาย ยืนยันว่า มิติความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่กลายเป็น “ผู้สูบหน้าใหม่” จากบุหรี่แปลงร่างชนิดนี้ 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในต่างประเทศซึ่งเป็น "ประเทศต้นทาง" ที่ผลิตและขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ “กลุ่มเยาวชน” และ “ชุมชนเมือง” ได้ยื่นฟ้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และโฆษณาบิดเบือนก่อให้เกิดการ “เสพติดนิโคติน”  

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนในชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ที่ดำเนินการฟ้องผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและการเสพติดนิโคติน โดยคำฟ้องมีสาระสำคัญคือ ตั้งแต่ปี 2558 บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะจำเลย “ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และทำการตลาดที่ผิดๆ หลอกลวง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น ซึ่งส่งผลให้เด็กติดนิโคติน”

เช่นเดียวกับวัยรุ่นลองไอส์แลนด์ ได้ดำเนินการฟ้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าด้วยข้อหา “โฆษณาให้พวกเขา ติดยาเสพติด” ส่วนวัยรุ่นในรัฐโคโลราโดยื่นฟ้องรัฐบาลกลางต่อบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ในประเด็น “การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เขาได้รับบาดเจ็บถาวร และต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต หรือที่เรียกชื่อย่อว่า EVALI”

ขณะที่โรงเรียนและเขตการศึกษาหรือแม้แต่เมืองก็ได้ดำเนินการฟ้องผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน โดยระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าสร้างภัยคุกคามต่อสุขภาพของนักเรียนของตน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจากการต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น ระบบการตรวจสอบการสูบในสถานที่ต่างๆ การจัดการกับขยะบุหรี่ไฟฟ้า

เช่นเดียวกับเมืองนิวยอร์ก ที่ได้ยื่นฟ้องผู้ขายออนไลน์บุหรี่ไฟฟ้าชูรสแล้ว 22 ราย ในข้อกล่าวหาว่ามีการขายผิดกฎหมายให้กับผู้เยาว์ โดยการกำหนดเป้าหมายไปยังคนหนุ่มสาวผ่านโซเชียลมีเดีย และล่อลวงพวกเขาด้วยรสชาติ เช่น "Lemon Twist" "Frbys's Pebbles" และ "Whipped Salted Caramel"

แม้แต่ในประเทศแคนาดา บริษัทบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ก็ถูกฟ้องเป็นคดีความในข้อหา สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และการที่บริษัทกำหนดเป้าหมายเป็นผู้เยาว์ด้วยวิธีการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด   

ส่วนความเป็นไปได้ในประเด็นเรียกร้องค่าชดเชย และค่าเสียหายเชิงลงโทษจากบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ที่ศาลอาจพิจารณาว่าเป็นการคุกคามต่อการเจ็บป่วยของประชาชน มีด้วยกัน 4 ประเด็น คือ 1.ให้รับผิดชอบในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความบกพร่อง 2.ความประมาทเลินเล่อ ความล้มเหลวในการเตือนความเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้า 3.ความล้มเหลวในการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ 4.การปกปิดความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ (ฉ้อโกง)

อย่างไรก็ดี คดีฟ้องร้องกรณีบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าแห่งหนึ่งยอมจ่ายเงินแก่รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐฯ กว่า 40 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,282.8 ล้านบาท เพื่อขอยอมความในคดี จากการถูกกล่าวหาว่าแนวทางปฏิบัติทางการตลาดของบริษัท ทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินในหมู่คนหนุ่มสาว และสร้างปัญหาใหม่ให้กับระบบสาธารณสุข

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายเพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ยังไม่มีการเอาผิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อบริษัทที่ผลิต หรือนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือแม้แต่เพื่อจัดจำหน่าย จากประชาชนหรือสังคม

ทั้งนี้ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีสถานะเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ห้ามสูบในที่สาธารณะ และครอบครอง ตามประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนําเข้ามา ในราชอาณาจักร พ.ศ.2557

สำหรับบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้านั้น หรือทั้งจำทั้งปรับ และริบสินค้านั้น รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

ส่วนการแอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าก็มีโทษเช่นกัน โดยจะเท่ากับการลักลอบหนีพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของสินค้านั้น ซึ่งรวมค่าอากร หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบของนั้น

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้กฎหมายในเรื่องการห้ามขายหรือบริการสินค้าเหล่านี้ เช่นเดียวกับการรับซื้อหรือรับไว้ ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จะเท่ากับห้ามพักสินค้า หนีพิธีการ ตามมาตรา 246

รวมไปถึงการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยเป็นไปตาม พ.ร.ฐ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ซึ่งมีบทนิยามคำว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบในประโยคที่ว่า “มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ” ซึ่งมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ บุหรี่ไฟฟ้ายังกลายเป็นค่านิยมใหม่ ที่ผู้สูบจำนวนมากยังไม่ตระหนักและเท่าทันถึงอันตรายของการ “เสพติดนิโคติน” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน

ในทางกลับกัน แม้บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีการออกมาฟ้องร้องนักวิชาการ นักวิจัย ที่ออกมาเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบดังกล่าว ทว่ากลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศไทย ได้พยายามใช้ช่องทางต่างๆ ทำลายกฎการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ด้วยการร้องเรียนผ่านกลไกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นขัดขวางการนำเข้าและกล่าวโทษเกินจริง

สอดคล้องกับที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รวบรวมวิธีการแทรกแซงนโยบายของอุตสาหกรรมยาสูบไว้ 6 ลักษณะด้วยกัน คือ 1.การแทรกแซง นักการเมืองและกระบวนการเสนอกฎหมาย 2.การอวดอ้างถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง 3.การสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเคารพน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน 4.การสนับสนุนกลุ่มองค์กรบังหน้า 5.การโจมตี ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ 6.การข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ใน หน่วยงานของรัฐ

“กลุ่มสุขภาพที่ออกมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากสุขภาพของประชาชน ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของคนทำงานสาธารณสุข ซึ่งต้องตั้งคำถามกลับไปว่ากลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเขาได้ประโยชน์อะไรจาก บริษัทบุหรี่ั้หรือไม่ เพราะบริษัทบุหรี่มีเงินทุนมหาศาลกับการขายสินค้าที่ก่อให้เกิดการเสพติด” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. ตั้งคำถาม

ดร.วศิน ยังระบุด้วยว่า กฎหมายไทยต่อการรับมือบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเข้มข้น เพราะเน้นสกัดกั้นไม่มีการให้นำเข้าตั้งแต่ต้นทาง สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์กรสหพันธ์ต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD) ที่เสนอว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ควรยอมรับ “หลักการป้องกันไว้ก่อน” ซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการป้องกัน คือการห้ามขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และ Heated Tobacco Product ในประเทศ

เหตุผลที่สหพันธ์ต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ หรือ THEUNION.ORG เสนอห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะ 1.บริษัทบุหรี่มุ่งเป้าไปที่เยาวชน 2.การเปลี่ยนจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไปใช้บุหรี่ธรรมดาในกลุ่มเยาวชน 3.หลักฐานที่อ้างถึงการลด อันตรายในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ยังไม่เพียงพอ 4.ผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม 5.จะเกิดการแสวงหาประโยชน์จาก ช่องว่างทางกฎหมาย

6.ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่เป็นสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจมาตรการด้านการควบคุมยาสูบอื่นๆ ที่ได้รับการ ยืนยันแล้วว่าได้ผล 7.ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่จะเบียดบังทรัพยากรในการควบคุมยาสูบ 8.ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ทำให้การแทรกแซง ของบริษัทบุหรี่เพิ่มมากขึ้น 9.บริบทของประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางแตกต่างจากบริบทของประเทศอังกฤษเป็น อย่างมาก 10.ความปลอดภัยต้องมาก่อน เนื่องจากผลต่อสุขภาพยังไม่เป็นที่ประจักษ์

“แต่ยังมีประเด็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเสริม คือ 1.สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น พิษภัย ผลกระทบ ต่อเยาวชนและสังคม 2.สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย 3.บังคับใช้กฎหมายอย่าง เคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดการในระบบค้าขายออนไลน์ที่ซื้อง่ายขายคล่องอยู่ในปัจจุบัน” ดร.วศิน กล่าวทิ้งท้าย