ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนาจับตาแก้ "พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" หวังให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เอื้อการขาย-สร้างปัญหาสังคม จี้บริษัทน้ำเมายักษ์ใหญ่ยื่นมือช่วยเยียวยา ร้านเหล้า-ผับ-บาร์-ผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังถูกปิดยาวจากโควิด


นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง "ภัยคุกคามและความท้าท้ายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ตอนหนึ่งว่า การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ทำให้การค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นที่เป็นทางมากขึ้น และการควบคุมมีประสิทธิภาพจนทำให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ต้องปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าธุรกิจทำตัวเป็นศรีธนญชัย สร้างสิ้นค้าที่มีแบรนด์ใกล้เคียงกับแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อโฆษณาทดแทนหลบเลี่ยงกฎหมาย จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในกรณีที่ภาคธุรกิจล่ารายชื่อพร้อมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นประโยชน์ต่อสังคม

"ไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนที่แก้แล้วแย่กว่าเดิม และไม่ควรให้ธุรกิจที่มีส่วนได้เสียเป็นผู้เสนอแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์กับตนเอง ซึ่งภาคประชาชนรับไม่ได้ นี่เป็นกฎหมายควบคุมเพื่อลดปัญหาลดผลกระทบ มิใช่กฎหมายส่งเสริมการขายสินค้าที่สร้างปัญหาทุกมิติกับสังคม" นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวว่า โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 นั้น มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าแอลกอฮอล์ทำลายภูมิต้านทาน ทำให้วัคซีนได้ผลน้อยลง และการระบาดมาจากวงเหล้า เมาแล้วครองสติไมได้ ทำลายระยะห่างหรือมาตรฐานการควบคุมโรค ทั้งนี้ต้องชื่นชมรัฐบาลที่มีการสั่งปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ระบาด แต่ภาครัฐก็ต้องเยียวยาเขาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคืออยากเห็นธุรกิจแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในช่วงโควิด-19 ด้วยการจัดหาวัคซีน หรือมีกองทุนให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับร้านเหล้าผับบาร์ ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจให้กับบริษัทแอลกอฮอล์มายาวนาน จึงควรยื่นมืออกไปดูแลเขาบ้างในยามนี้

"สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยคือการที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ค่ายใหญ่มีรายได้เป็นแสนๆ ล้านบาท ยังมาขอใช้สิทธิพิเศษเรื่องวัคซีนกับทางมหาดไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสังคมรับไม่ได้" นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวอีกว่า ภาคประชาชนต้องช่วยสอดส่อง ตรวจสอบ กดดัน อุดช่องว่างการส่งเสริมการขายที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง หรือก้าวข้ามไปไม่ทันการสื่อสารใหม่ๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ และจับตาการเจรจราการค้าระหว่างประเทศทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู

"ขอยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าทำลายสุขภาพ ขายได้แต่ไม่ควรลดหรือปลอดภาษี และไม่ยอมให้ธุรกิจสุราแทรกแซงนโยบายของรัฐไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ถ้ารัฐบาลยอมก็แสดงว่ารัฐส่งเสริมสินค้าทำลายสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ประชาชน"

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวว่า การล่ารายชื่อให้แก้ไข พ.ร.บ. ของฝ่ายธุรกิจนั้นก็มีหลายประเด็นที่น่าตกใจ เช่น เสนอยกเลิกการห้ามโฆษณาตามมาตรา 32 เดิม มาเป็นห้ามการโฆษณาอันเป็นเท็จ ซึ่งตรงนี้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ควบคุมไว้อยู่แล้ว เสนอให้คนของฝั่งธุรกิจเหล้าเบียร์เข้ามาเป็นกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ 
นพ.สมาน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการเสนอ ตัดมาตรการควบคุมการส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถมให้กลับมาทำได้ ณ จุดขาย และที่เศร้าใจมากคือการเสนอให้ขายเหล้าเบียร์ในมหาวิทยาลัยได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อมโนสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งไม่น่าจะมีคนเห็นด้วยแน่

"ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่ำรวยจากผู้ให้บริการร้านเหล้าผับบาร์ เมื่อผับบาร์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธุรกิจนี้ควรเข้าไปมีส่วนช่วยเยียวยาเขาด้วย ทราบมาว่าตอนนี้ยากลำบากกันมาก ซึ่งน่าเห็นใจอย่างยิ่  แต่ถ้าจะให้ดีคือบริษัทท่านต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง และระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม ทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม" นพ.สมาน กล่าว