ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานของกลุ่มประเทศ G7 ชี้ ประเทศสมาชิกมีบทบาทสำคัญในการช่วยประเทศรายได้น้อยและปานกลาง สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยกระดับระบบสุขภาพให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2564 คณะติดตามการทำงานของประเทศ G7 (G7 Accountability Working Group) ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าของกลุ่มประเทศ G7 ในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและยกระดับสุขภาพโลก

กลุ่มประเทศ G7 หรือ 7 ประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น บวกกลุ่มสหภาพยุโรป  

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 7 ในปี 2558-2560 ผู้นำต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินและองค์ความรู้แก่ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ

ทั้งยังสัญญาว่าจะช่วยประเทศเหล่านั้นสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ และผลักดันนโยบายพลวัตรสุขภาพโลก (Global Health System) เพื่อเตรียมตัวตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คำมั่นสัญญานี้มีที่มาจากการตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) และการเห็นสถานการณ์โรคอีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันข้ามประเทศและข้ามภาคส่วน

รายงานดังกล่าวสรุปว่า กลุ่มประเทศ G7 มีบทบาทสำคัญมาก ในการส่งเสริมให้ประเทศรายได้ปานกลางและน้อยมีการลงทุนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

ในระว่างปี 2558-2562 กลุ่มประเทศ G7 ให้เม็ดเงินความช่วยเหลือด้านสุขภาพเพิ่มจาก 957.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี (30,000 ล้านบาท) เป็น 1,711.7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (53,800 ล้านบาท) 

เงินส่วนมากใช้จ่ายกับการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ งานวิจัย การพัฒนาบริการทางการแพทย์ และการอบรมเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อพิจารณาเม็ดเงินที่ใช้สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 38% เป็น 47% ของเงินสนับสนุนด้านสุขภาพทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน

กลุ่มประเทศ G7 ยังให้เงินความช่วยเหลือส่งเสริมการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มจาก 7 ประเทศ เป็น 115 ประเทศ ในระหว่างปี 2555-2563 คิดเป็นการเพิ่มเม็ดเงินจาก 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (300 ล้านบาท) เป็น 80 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (2,500 ล้านบาท)

รายงานนี้ระบุถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดจากเม็ดเงินที่จ่ายไป เช่น การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการอบรมเพิ่มขึ้น เป็นแพทย์ 14% พยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ 17%

61% ของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ มีศัยกภาพในการรับมือวิกฤติสุขภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแจกจ่ายวัคซีนผ่านกลไกขององค์การอนามัยโลก ทำให้ระบบสุขภาพในประเทศผู้รับเข้มเข็งขึ้น

กลุ่มประเทศ G7 ยังสนับสนุนงบประมาณผ่านกลไก Contingency Fund for Emergencies (CFE) ขององค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาตอบสนองต่อวิกฤติโรคระบาด โดยในปี 2562 มีประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านกลไกนี้ 22 ประเทศ งบประมาณมากกว่า 84% เบิกจ่ายภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการร้องขอ

แต่ละประเทศมีรูปแบบการสนับสนุนที่แตกต่างกัน เช่น เยอรมนีมักจะรวมส่วนงานด้านสุขภาพเข้าไปในแพคเกจความช่วยเหลือ เช่น ส่วนงานพัฒนาความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ การยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านยาและอุปกรณ์การแพทย์

อังกฤษเองก็มีโครงการความช่วยเหลือสุขภาพจำนวนมาก เช่น โครงการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและเด็กในประเทศเคนยา และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ขณะที่อิตาลี ทุ่มเม็ดเงิน 5 ล้านยูโร (187 ล้านบาท) เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านสุขภาพให้ประเทศโซมาเลีย ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมบุคลากรทางการแทพย์ สร้างโรงพยาบาล การทำโครงการส่งเสริมและป้องกันโรค ทางด้านญี่ปุ่น เน้นให้องค์ความรู้ในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับนานาประเทศ รวมทั้ง ไทย ลาว หมู่เกาะฟิจิ และกลุ่มประเทศแอฟริกัน

อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มประเทศ G7 จะลงแรงและเม็ดเงินไปเป็นจำนวนมาก รายงานกลับชี้ว่ายังไม่เพียงพอ และไม่อาจบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพ ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573

นั่นคือเหตุผลที่สหประชาชาติผลักดันให้เกิดการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High – Level Meeting on Universal Health Coverage) ในปี 2562 ซึ่งผู้นำนานาประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศของตนเอง และลงทุนด้านสุขภาพอย่างน้อย 1% ของจีดีพี

รายงานเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G7 ยังคงรักษาคำมั่นสัญญาในการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้โลกนี้มีสุขภาพดี และสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายหลังเกิดวิกฤติสุขภาพ
 
อ้างอิง
https://www.gov.uk/government/publications/g7-carbis-bay-progress-report-advancing-universal-health-coverage-and-global-health-through-strengthening-health-systems-preparedness-and-resilience/g7-carbis-bay-progress-report-advancing-universal-health-coverage-and-global-health-through-strengthening-health-systems-preparedness-and-resilience#acknowledgements
https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/990319/G7_Carbis_Bay_Report.pdf