ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวัง "โรคเมลิออยโดสิส" ช่วงฤดูฝน-มีพื้นที่น้ำท่วมขัง แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตได้


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และอาจมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตร จึงขอให้ระมัดระวังอาจเจ็บป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส เนื่องจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลน แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำที่ไม่ได้ต้มสุก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ

สำหรับโรคเมลิออยโดสิส สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1. ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง 2. หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3. ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกร และชาวประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรัง

ทั้งนี้ เชื้อดังกล่าวมีระยะฟักตัว 1-21 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี ซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ คล้ายป่วยเป็นไข้ บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค โดยผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานานอย่างไม่ทราบสาเหตุ  มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

ในส่วนของวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1. ผู้ที่มีบาดแผล ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่  2. หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3. ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 24 พ.ค. 2564 พบผู้ป่วย 1,016 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ อายุ 55-64 ปี มากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ

ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ มุกดาหาร อุบลราชธานี และอํานาจเจริญ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 2,945 ราย เสียชีวิต 13 ราย โดยภาคที่ยังพบผู้ป่วยสูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน