ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส.-HITAP วิจัยประเมินผลโครงการรับยาใกล้บ้าน พบประสิทธิภาพช่วยลดแออัด-ผู้ป่วยพึงพอใจ เพิ่มความสะดวก-เพิ่มเวลาปรึกษาเภสัชกรมากขึ้น ส่งผลให้ครม.รับทราบ


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตามที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการ สวรส. เสนอ โดยหนึ่งในนั้นคือ ผลการประเมินโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล หรือโครงการรับยาใกล้บ้าน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ สวรส. ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาวิจัยและประเมินผลโครงการรับยาใกล้บ้าน ซึ่ง สปสช. ดำเนินการนำร่องให้กับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ให้สามารถรับยาที่ร้านยา และขยายผลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วยด้วย

สำหรับผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า "ร้านยา" มีศักยภาพ และมีส่วนสำคัญในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากการรับยาที่ร้านยาทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ให้ยังสามารถรับยาและมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในด้านความพึงพอใจต่อบริการที่ร้านยา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเนื่องจากการรับยาที่ร้านยาไม่ต้องรอคิวนาน คนไม่มาก มีความสะดวกในการเดินทาง มีความยืดหยุ่นของเวลาในการรับยาที่ร้านยา และมีเวลาปรึกษาเภสัชกรมากขึ้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น รูปแบบการรับยาที่ร้านยาควรเป็นแบบ refll-prescription โดยผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยาควรเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลประเมินว่าเหมาะสม และไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ก่อน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยต้องมีการดูแลด้านคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยโดยเภสัชกรที่ร้านยา

ขณะเดียว สวรส. ยังมีข้อเสนอให้ สปสช.ควรพิจารณาเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนับสนุนให้เกิดการจัดทำระบบข้อมูล (minimum dataset) ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยที่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อนึ่ง ข้อเสนอจากงานวิจัยนี้ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 และบอร์ด สปสช. ได้มีมติให้เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในและนอกพื้นที่หน่วยบริการ

พร้อมกันนี้ ยังได้ให้โรงพยาบาลเพิ่มเติมระบบจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาของผู้ป่วยที่ร้านยา และคาดว่าจะสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้ในการปรับระบบการให้บริการเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดจนเพื่อการพัฒนาระบบบริการในระยะยาวต่อไป