ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 4 จัดระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะผู้ที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียม เน้นคัดกรองความเสี่ยง ณ หน่วยบริการอย่างเข้มข้น จัดระบบติดตามศักยภาพหน่วยย่อยและส่งต่อกรณีพบผู้ป่วยไตวายติดเชื้อโควิด-19 ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ

รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคไตเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วจะมีอาการรุนแรง ใช้ทรัพยากรในการรักษามาก และอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องกันความเสี่ยงในผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล 3 วันต่อสัปดาห์ การเดินทางมาที่โรงพยาบาล การต้องพบเจอผู้ป่วยฟอกไตด้วยกัน ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ เช่นเดียวกับลักษณะของหน่วยฟอกไตเป็นหน่วยย่อยในโรงพยาบาล อาจขาดอุปกรณ์ในการดูแลป้องกัน หรือบางหน่วยก็ไม่มีสถานที่กว้างพอจะแยกผู้ป่วยออกไป ดังนั้นถ้าเกิดการติดเชื้อจนหน่วยฟอกเลือดต้องปิดไป คนไข้จะยิ่งลำบาก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี เขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยบริการต่างๆ ในพื้นที่ จึงได้มีการหารือเพื่อจัดระบบการบริการรองรับผู้ป่วยไตวาย โดยเฉพาะหากมีผู้ป่วยไตวายที่ฟอกเลือดมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ความมั่นใจกับคนไข้ว่าจะได้รับการดูแล และป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์รับเชื้อจากผู้ป่วย

รศ.พญ.สิริภา กล่าวว่า จากการหารือได้ข้อสรุปว่าหน่วยฟอกไตจะดำเนินการคัดกรองโรคเข้มข้นขึ้น โดยใช้แบบคัดกรองตามกรมควบคุมโรค มีแนวปฏิบัติต่างๆ เช่น ผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามาต้องมีหน้ากากปิดจมูกปิดปาก ต้องมีระยะห่างระหว่างกัน ต้องล้างมือก่อนพบแพทย์

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการหารือในเรื่องการแบ่งระดับการดูแล โดยประเมินศักยภาพของหน่วยย่อยแต่ละแห่งว่าสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวนเท่าใดและมีการติดตามต่อเนื่องว่าใกล้จะถึงขีดศักยภาพที่จะรองรับได้แล้วหรือไม่ หากเกิดกรณีมีผู้มารับการฟอกไตเกินขีดความสามารถของหน่วยย่อย มีผู้ป่วยฟอกไตติดเชื้อโควิด-19 หรือมีเหตุอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ ก็ได้วางระบบการส่งต่อไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะส่งต่อให้หน่วยใหญ่ที่รับส่งต่ออย่างไร โดยเน้นการส่งต่อภายในจังหวัด ไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพราะอาจได้รับเชื้อหรือกลายเป็น Super Spreader ได้

"ถ้าพบว่าคนไข้มีความเสี่ยงสูงหรือติดเชื้อ ก็จะส่งไปให้ที่หน่วยใหญ่ มีการแบ่งแล้วว่าหน่วยใหญ่แต่ละจังหวัดมีที่ไหน จะประสานกันอย่างไร รวมทั้งต้องมีระบบติดตามว่าคนไข้ไปรับบริการที่จุดไหนอยู่ตรงไหน จะไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด" รศ.พญ.สิริภา กล่าว

นอกจากการจัดเตรียมระบบคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยแล้ว ในส่วนของผู้ป่วยเองก็จะสื่อสารให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น ใส่หน้ากากทุกครั้งที่มารับบริการ การไม่ปกปิดข้อมูล ต้องให้ข้อมูลตามจริง วิธีปฏิบัติขณะเดินทาง การดูแลตัวเองต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงการให้คำแนะนำไปถึงคนในครอบครัวผู้ป่วยอีกด้วย

รศ.พญ.สิริภา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นสำคัญอีกประการคือ สังคมต้องไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อ วินาทีนี้ต้องช่วยกันทุกคน ยิ่งสังคมรังเกียจผู้ป่วยก็จะยิ่งปกปิดข้อมูลและเพิ่มความเสี่ยงให้ทั้งคนทั่วไปและตัวบุคลากรเอง

ทั้งนี้ ในปี 2563 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 มีจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 5,783 ราย แบ่งเป็น นนทบุรี 1,941 ราย ปทุมธานี 1,504 ราย อยุธยา 943 ราย สระบุรี 439 ราย ลพบุรี 421 ราย อ่างทอง 202 ราย นครนายก 170 ราย และสิงห์บุรี 163 ราย

ขณะที่การกระจายหน่วยบริการล้างไตผ่านช่องท้องมี 27 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัด นนทบุรี 7 แห่ง ปทุมธานี 5 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง สระบุรี 3 แห่ง ลพบุรี 4 แห่ง สิงห์บุรี 2 แห่ง นครนายก 2 แห่ง และอ่างทอง 1 แห่ง และหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมี 68 แห่งประกอบด้วย นนทบุรี 17 แห่ง ปทุมธานี 18 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 9 แห่ง สระบุรี 6 แห่ง ลพบุรี 7 แห่ง อ่างทอง 5 แห่ง สิงห์บุรี 3 แห่ง และนครนายก 3 แห่ง