ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

1330 สายด่วน สปสช.ช่วยหญิงท้องแก่คลอดลูก รพ.เอกชน หน่วยบริการบัตรทองใกล้บ้าน โดยใช้สิทธิว่าง เหตุเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมมาเป็นบัตรทอง ก่อนสิทธิจะปรากฎจะเป็นสิทธิว่าง หลังประสานความเข้าใจ ชี้แจงสิทธิเบิกจ่ายค่าบริการช่วงสิทธิว่าง พร้อมเผยปี 59 ไตรมาส 2 มีประชาชนร้องเรียน 2,208 เรื่อง ร้องทุกข์ 2,970 เรื่อง ส่วนใหญ่แก้ไขได้ภายใน 25 วัน ด้านผู้ป่วยขอบคุณ ย้ำหากไม่ใช้สิทธิบัตรทองก็ต้องลำบากแน่นอน

นางบำราศ บุญสะอาด อายุ 20 ปี ชาวเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 ได้เข้าผ่าตัดคลอดที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในเขตมีนบุรีซึ่งเป็นหน่วยบริการใกล้บ้าน โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยได้ประสานข้อความช่วยเหลือเรื่องการใช้สิทธิผ่านเฟสบุ๊คก้าวใหม่ สปสช. เนื่องจากในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน สิทธิประกันสังคมได้หมดการคุ้มครอง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ตนจึงได้ไปทำการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ยังสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ โดยได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า จะปรากฎขึ้นในระบบวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ก่อนที่สิทธิจะปรากฏ จะมีสถานะสิทธิว่างซึ่งก็กังวลใจเนื่องจากตนเองมีกำหนดคลอดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 จึงได้ปรึกษาผ่านเฟสบุ๊คก้าวใหม่ สปสช.และสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่าในช่วงที่รอสิทธิปรากฎในระบบ กรณีเร่งด่วนผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลใดก็ได้รวมถึงการคลอด ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่รับดูแลผู้ป่วยบัตรทอง

“ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง เพราะใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว หากต้องจ่ายค่าคลอดเองก็ไม่มีเงินมากพอ จึงได้ลองโพตส์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คก้าวใหม่ สปสช.เพื่อขอความช่วยเหลือดู ไม่นานเจ้าหน้าที่ สปสช.ก็ได้ติดต่อกลับและประสานเคลียร์เรื่องการใช้สิทธิว่างการเบิกจ่ายค่ารักษากับ รพ.เอกชนดังกล่าว ทำให้ในที่สุดสามารถเข้ารับบริการคลอดยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ได้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ก่อนถึงวันกำหนดคลอดหนึ่งสัปดาห์ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและลูกที่คลอดมาเป็นเด็กหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,160 กรัม แข็งแรงดี ซึ่งหากไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองจะต้องจ่ายเงินเองคงต้องเดือดร้อนมากแน่ ซึ่งต้องขอบคุณ สปสช.ที่ช่วยประสานและทางโรงพยาบาลที่ช่วยดูแลรักษาอย่างดี” นางบำราศ กล่าว     

ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีข้างต้นเป็นกรณีการให้บริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ส่งเข้ามาผ่านช่องทางการสื่อสารของ สปสช. ทั้งสายด่วน สปสช. 1330 และทางเฟสบุ๊คก้าวใหม่ สปสช.เป็นต้น ทั้งนี้จากข้อมูลในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 สปสช.ได้ให้บริการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจำนวน 2,208 เรื่อง เป็นเรื่องไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กําหนด จํานวน 824 เรื่อง หรือร้อยละ 37.32 เรื่องไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร จํานวน 514 เรื่องหรือร้อยละ 23.28 เรื่องถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บ จํานวน 485 เรื่อง หรือร้อยละ 21.97 และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน จํานวน 385 เรื่อง หรือร้อยละ 17.44 ทั้งนี้ในจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เข้ามานี้ สปสช.ดําเนินการแล้วเสร็จจํานวน 1,974 เรื่อง โดย สปสช.แก้ไขภายใน 25 วันทําการจํานวน 1,520 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.89

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการรับเรื่องร้องทุกข์ โดยในช่วง 2 ไตรมาสแรกปี 2559 สปสช.รับบริการร้องทุกข์จํานวน 2,970 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิไม่ตรงตามจริง เช่น สิทธิซ้ำซ้อนกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม จํานวน 1,473 เรื่อง หรือร้อยละ 51.63 รองลงมาเป็นเรื่องขอความช่วยเหลือ 523 เรื่อง หรือร้อยละ 18.33 และเรื่องการลงทะเบียนและเลือกหน่วยบริการ 414 เรื่อง หรือร้อยละ 14.51

“ทันทีที่ สปสช.ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์เข้ามาในช่องทางต่างๆ เช่นสายด่วน สปสช. 1330 หรือเฟสบุ๊คก้าวใหม่ สปสช. เจ้าหน้าที่จะประสานเพื่อแก้ไขปัญหาให้โดยเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยบริการ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องรับบริการเร่งด่วน อย่างกรณีรับบริการในช่วงสิทธิว่างข้างต้น ซึ่งบางครั้งอาจเกิดความไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์การใช้สิทธิของฝ่ายผู้รับบริการหรือผู้ให้บริการ จำเป็นต้องมีการประสานและชี้แจงเพื่อความเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและใช้สิทธิบริการรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้อง” นพ.รัฐพล กล่าว