ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่การประมาณการการสัมผัสต่อมลภาวะพิษทางอากาศและผลกระทบด้านสุขภาพในประเทศต่างๆ แผนที่แบบโต้ตอบได้ (interactive maps) แบบใหม่ที่สามารถเน้นพื้นที่ที่มีระดับมลภาวะพิษทางอากาศสูงกว่าระดับที่กำหนดได้  

โครงการต้นแบบคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO air quality model) ได้ช่วยยืนยันว่า ร้อยละ 92 ของประชากรโลกต้องอาศัยอยู่ในสถานที่มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลผ่านแผนที่แบบโต้ตอบได้ (interactive maps) โดยมีการแสดงผลที่เน้นพื้นที่ที่มีระดับมลภาวะพิษทางอากาศเกินกว่าที่กำหนด   

"ตัวแบบใหม่ขององค์การอนามัยโลกนี้ แสดงให้เห็นประเทศที่มีมลภาวะพิษทางอากาศระดับอันตราย รวมทั้งแสดงค่าพื้นฐานสำหรับการติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา” Dr Flavia Bustreo ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ขององค์การอนามัยโลก กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอรายละเอียดของมลภาวะพิษทางอากาศที่สัมพันธ์กับข้อมูลด้านสุขภาพ จำแนกตามประเทศด้วย ซึ่งรายงานนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวัดสัญญาณผ่านดาวเทียม ตัวแบบการขนส่งทางอากาศ และอากาศที่เก็บได้จากสถานีภาคพื้นดินทั้งในเขตชนบท และเขตเมือง รวมกว่า 3000 แห่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาผ่านความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับ University of Bath สหราชอาณาจักร

มลภาวะพิษทางอากาศที่มีผลต่อภาวะสุขภาพของมนุษย์

ในแต่ละปีมีการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศภายนอกอาคารสูงมากถึง 3 ล้านราย ในขณะที่มลพิษทางอากาศภายในอาคารก็อันตรายไม่แพ้กัน  โดยมีการประมาณการ ว่าในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) มีจำนวนการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคารสูงถึง 6.5 ล้านราย (หรือร้อยละ 11.6 ของการตายทั้งหมด)  

และกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศนั้น พบในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยที่จำนวนเกือบ 2 ใน 3 พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตก

และยังพบว่า ร้อยละ 94 เป็นการเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และ มะเร็งปอด  โดยที่มลภาวะทางอากาศมีส่วนช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันด้วย   

"มลภาวะทางอากาศถือเป็นตัวกลางสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในกลุ่มประชาชนเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก และ ผู้สูงอายุ” Dr Bustreo กล่าวเสริม "การที่ประชาชนจะมีสุขภาพดีได้ จำเป็นต้องได้สูดหายใจรับอากาศที่สะอาดตลอดเวลา”   

ต้นเหตุสำคัญของการเกิดมลภาวะทางอากาศ ครอบคลุมถึง ระบบการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ การเผาใหม่เชื้อเพลิงและขยะของครัวเรือน การเผาถ่านหินในโรงงาน และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามต้นเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศก็ใช่ว่าจะเกิดจากฝีมือของมนุษย์เสียทั้งหมด ตัวอย่างเช่น อาจจะเกิดจากพายุฝุ่น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ติดกับทะเลทราย เป็นต้น  

ข้อมูลการปรับปรุงมลพิษทางอากาศ

โครงการต้นแบบคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากดาวเทียมและจากสถานีภาคพื้นดินเพื่อให้ได้ค่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด จากนั้นทำการวิเคราะห์มลพิษทางอากาศของแต่ละประเทศ โดยการเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรและระดับมลพิษในรูปแบบตารางขนาดประมาณ 10 ก.ม. x 10 ก.ม.

"ตัวแบบการวิเคราะห์แบบใหม่นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับการประมาณการสาเหตุการตายจากมลภาวะทางอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารที่มีจำนวนมากกว่า 6 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 9 ของการตายทั้งหมด" Dr Maria Neira, ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นปัจจัยกำหนดภาวะสุขภาพขององค์การอนามัยโลก กล่าว

"ปัจจุบันมีจำนวนเมืองที่มีการเฝ้าระวังและติดตามมลภาวะทางอากาศมากขึ้น และปัจจุบันข้อมูลที่เก็บรวบรวมผ่านดาวเทียมก็มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทำให้เรามีข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ภาวะสุขภาพได้ละเอียดยิ่งขึ้น"

แผนที่แบบโต้ตอบได้ Interactive maps

แผนที่แบบโต้ตอบได้ มีการแสดงข้อมูลการสัมผัสกับฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนประชากรสำหรับทุกประเทศ นอกจากนี้ยังมีการแสดงข้อมูลการติดตามฝุ่นละอองขนาด PM10 และ PM2.5 ณ สถานีภาคพื้นดินที่ติดตั้งอยู่ในกว่า 3000 เมือง  

"การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศไม่สามารถดำเนินการได้เร็วเพียงพอ” Dr Neira กล่าวเสริม "วิธีการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ประกอบด้วย ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน ระบบบริหารจัดการขยะ การเข้าถึงระบบการหุงต้มที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาดของครัวเรือน รวมทั้งการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ และ การลดการปล่อยอากาศพิษออกจากโรงงานอุตสาหกรรม”

ในเดือนกันยายน ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เพื่อที่จะลดความเจ็บป่วยและการตายจากมลภาวะทางอากาศให้ได้อย่างยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) องค์การอนามัยโลก ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานใหม่สำหรับการเร่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งแผนการดำเนินงานในด้านสุขภาพของเรื่องนี้ได้เพิ่มการกำกับติดตามมลภาวะทางอากาศในระดับพื้นที่ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และการกำหนดบทบาทและภาวะผู้นำในการกำหนดนโยบายระดับประเทศที่กระทบต่อการแก้ไขปัญหามลภาวะพิษทางอากาศ   

มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO Ambient Air Quality Guidelines)

โครงการต้นแบบคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ได้ยืนยันว่า ร้อยละ 92 ของประชากรโลกได้อาศัยอยู่ในสถานที่มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด สำหรับค่าเฉลี่ยต่อปีฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไม่โครเมตร (PM2.5) โดยมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดค่าเฉลี่ยต่อปีไว้สำหรับฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ไว้ที่ 10 μg/m3 เฉลี่ยต่อปี

PM2.5 รวมถึงสารมลพิษ เช่น สารซัลเฟต สารไนเตรส และ คาร์บอนดำ ที่สามารถแทรกซึมเข้าไปสู่ปอด และ ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ ก่อให้เกิดพิษที่เป็นความเสี่ยงรุนแรงสำหรับสุขภาพของมนุษย์  

โครงการ “ลมหายใจแห่งชีวิต หรือ Breathe Life” เพื่อการรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ   

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ องค์การอนามัยโลก ได้เปิดโครงการรณรงค์ “ลมหายใจแห่งชีวิต” หรือ Breathe Life ซึ่งเป็นการรณรงค์ทั่วโลก เพื่อให้สาธารณชนมีความตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์  

Breathe Life เป็นโครงการที่มีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ผ่านความร่วมมือกับ the United Nations Environment Programme (UNEP) ในการจัดกิจกรรม Climate and Clean Air Coalition เพื่อลดปริมาณมลพิษระยะสั้นทางอากาศลง (Short-lived Climate Pollutants) ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่เน้นหนักทั้งมาตรการเชิงนโยบายที่ปฏิบัติได้ เช่น การมีระบบที่ดี ทั้ง ในบ้าน การขนส่ง การกำจัดขยะ และ พลังงานสะอาด และมาตรการระดับบุคคลและชุมชน เช่น หยุดการเผาขยะ การส่งเสริมพื้นที่สีเขียว และการเพิ่มการเดินและการปั่นจักรยาน เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของอากาศ   

ที่มา: http://www.who.int/mediacentre/news/releases/2016/air-pollution-estimates/en/