ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีรับฟังความเห็นบัตรทอง ชงข้อเสนอ “ขยายขอบเขตบริการ-ปรับปรุงมาตรฐานสาธารณสุข” แนะ สปสช.ใช้ผลประเมินคุณภาพโรงพยาบาลประกอบการจัดสรรงบประมาณ ขอให้เพิ่มการใช้การประเมินผลการเข้าถึงบริการ คุณภาพบริการ ประกอบการจ่ายงบประมาณ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2559 ตามมาตรา 18 (13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยห้องย่อยที่ 1 ได้หารือถึงประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.ข้อเสนออื่นๆ โดยเรื่องขอบเขตบริการนั้น ที่ประชุมเสนอว่าควรขยายความครอบคลุมพระภิกษุสงฆ์ให้สามารถรับบริการได้ทุกหน่วยพยาบาลเช่นเดียวกับผู้พิการ ส่วนกลุ่มทหารเกณฑ์ปลดประจำการนั้นให้ลงทะเบียนสิทธิตามพื้นที่พักอาศัยโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้ขยายสิทธิการคุมกำเนิดด้วยวิธีการฝังฮอร์โมนในสตรีโดยไม่จำกัดอายุ และให้เพิ่มสิทธิการฝากครรภ์ฟรีทุกที่ทุกสิทธิ รวมถึงเพิ่มสิทธิยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เพิ่มหน่วยฟอกไตที่มีมาตรฐานสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มงบสนับสนุนการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกราย และเพิ่มบริการเชิงรุกในลักษณะหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อตรวจคัดกรองคนในชุมชน

ที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลกลางเพื่อให้บริการผู้ที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะ และเสนอให้ สปสช.นำผลวิจัยใหม่ๆ มาใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น กณีการให้ยาต้านไวรัสตัวใหม่ การให้ความรู้ในเรื่องการป้องกัน และเสนอให้มุ่งเน้นการส่งเสริมโดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนและประชาสัมพันธ์โรคแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน ให้ความรู้รอบด้านเรื่องวัคซีน

พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนออื่นๆ อาทิ เพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการทดสอบไอคิวให้กับเด็กก่อนวัยเรียนทุกคน เน้นการสืบสวนป้องกันโรคด้วยการออกกำลังกาย กำหนดมาตรฐานควบคุมผู้ใช้ยาราคาแพงป้องกันการนำยาไปขายต่อ รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนประชาชนเครือข่าย 9 ด้าน ผู้แทนผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิ ตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มากขึ้น

สำหรับประเด็นมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่ประชุมห้องย่อยที่ 1 เห็นว่าจำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานบริการในพื้นที่ โดยเป็นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช. อาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคเอกชน ประชาชน และให้เพิ่มศูนย์ประสานงานระดับอำเภอ

ขณะเดียวกันเสนอให้ใช้ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานประกอบการจัดสรรงบประมาณ และขอให้เพิ่มการใช้การประเมินผลการเข้าถึงบริการ คุณภาพบริการ ประกอบการจ่ายงบประมาณ นอกจากนี้ต้องมีการควบคุมกำกับกองทุนสุขภาพตำบลโดยการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานเพื่อตอบสนองประชาชนในพื้นที่ ส่วนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการครั้งแรกควรเป็นบทบาทของเขต

ในส่วนของข้อเสนออื่นๆ ที่ประชุมเสนอให้เพิ่มล่ามเพื่อสื่อสารกับกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดบริการรองรับผู้ป่วยที่พ้นภาวะวิกฤตแล้วแต่ไม่สามารถหาเตียงในโรงพยาบาลได้ พัฒนาศักยภาพของ อสม.ให้มีความเชี่ยวชาญ กำหนดนิยามกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจน ให้ค่าตอบแทนผู้ให้บริการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้ให้บริการตามภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นตามสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ อสม.มีบทบาทในการสร้างสุขภาพกลุ่มเด็กและนักเรียน ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส จัดตั้งกองทุนการดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวช และยกเลิกการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ทุกกรณี

ที่มา: คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ