ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข” ชี้ 18 ปี หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สร้างคุณค่าให้ประชาชน พัฒนาระบบเกือบ 100% เร่งเติมเต็ม ปรับปรุงบริหารห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินคุณภาพ รุกพัฒนา รพ.จตุรทิศ รอบ กทม. ดูแลผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่ม

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพและการพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษกิจประเทศแข็งแรง” เป็นนโยบายที่มีความเชื่อมโยงกันมาก เนื่องจากการป่วยเป็นภัยคุกคาม ทั้งสุขภาพและเงินในกระเป๋า เพราะถ้าสุขภาพแข็งแรงไม่ป่วย นอกจากลดรายได้ด้านสุขภาพแล้ว ยังทำให้มีเวลาในการทำมาหากินที่เป็นการเพิ่มรายได้ ซึ่งรายได้รวมของประชาชนก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงไปด้วย

นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีเรื่องดี ๆ ต่อภาพรวมระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะนอกจากไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก ประจำปี 2562 แล้ว ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ จากการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ขณะเดียวกันไทยยังเป็นประเทศที่ใช้เงินน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ อาทิ การจัดซื้อยาซึ่งไทยสามารถจัดซื้อยาได้ถูกมาก ต่ำกว่าราคากลางถึงร้อยละ 93 เหล่านี้เป็นที่มาของการมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และตลอด 18 ปี ได้สร้างคุณค่ามากมายให้กับพี่น้องประชาชน โดยในการประชุมองค์การอนามัยโลกจะมีการหยิบยกขึ้นพูดถึงเสมอ

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ในช่วงที่นายอนุทินเข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ได้เชิญ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข มาหารือถึงการพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ซึ่งไทยทำมาเข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว พัฒนาระบบเกือบ 100% แต่ยังมีส่วนที่ต้องเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คือ การปฏิรูปห้องฉุกเฉิน และการพัฒนาระบบบริการรอบปริมณฑล กทม. หรือ “โรงพยาบาลจตุรทิศ” เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ  

ในส่วนของการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นห้องที่มีความชุลมุนที่สุดในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อความไม่เข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากที่สุด และจากข้อมูลปี 2559 มีผู้รับบริการถึง 35 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นในการปฏิรูปจึงได้แบ่งห้องฉุกเฉินเป็น 2 ห้อง คือ ห้องฉุกเฉินผู้ป่วยวิกฤต และห้องฉุกเฉินที่ผู้ป่วยรอได้ ไม่แต่ทำให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับบริการทันท่วงที แต่ผู้ป่วยที่รอได้ก็ได้รับการดูแล โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 อนุมัติให้เบิกจ่ายการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่รอได้ จำนวน 150 บาท/คน เพื่อสนับสนุนการจัดบริการของหน่วยบริการ เริ่มแล้วในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่ง และจะดำเนินการให้ครบ 34 แห่ง ในปี 2563 ซึ่งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่พัฒนาระบบได้รวดเร็ว

นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลจตุรทิศ นนทบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑลรอบ กทม. ความชุกของประชากรเพิ่มขึ้นเร็วมาก ทั้งยังเป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง โดยเฉพาะการก่อสร้าง และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ที่ผ่านมาพบว่านอกจากบริการผู้ป่วยนอกไม่เพียงพอแล้ว คนไข้ในยังล้น 100% ในทุกโรงพยาบาล จำเป็นต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับ ทั้งการปรับการบริหารจัดการ การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อดูแลประชากรในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเดินหน้าต่อไป