ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่นำมาใช้ในระบบสุขภาพ ถูกฉายให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นบนเวทีเสวนาว่าด้วยเรื่อง ‘AI Startups Revolutionizing Healthcare’ ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน TH.ai Forum EP02 เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็น AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ‘สตาร์ทอัพไทย’ ไม่ว่าจะเป็น AI ที่เข้ามาช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอด ช่วยตรวจจับก้อนมะเร็ง ช่วยวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม กระทั่งการช่วยแปลผลวินิจฉัยของแพทย์เป็นตัวอักษร ฯลฯ

แน่นอนว่าสตาร์ทอัพไทยหลายเจ้า ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI เข้ามาช่วยหนุนเสริมการทำงานของบุคลากรการแพทย์มากขึ้น ทั้งการช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ การตรวจจับอุณภูมิความร้อนในร่างกาย เป็นต้น

แม้ภายหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จะเริ่มจบลง แต่การพัฒนาระบบ AI ก็ไม่ได้หยุดตาม และยังคงมีการเดินหน้าพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจจับรอยโรคมะเร็งเต้านมผ่านการคัดกรองด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) การตรวจจับการเคลื่อนไหวของเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น

“The Coverage” มีโอกาสได้ร่วมสนทนาต่อเนื่องกับ พงษ์ชัย เพชรสังหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Dietz.asia’ ในฐานะ นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (THTA) ที่จะเข้ามาช่วยให้ภาพเพิ่มเติมถึงทิศทางของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ (Health Tech) ในประเทศไทย ที่น่าจะดำเนินไปต่อจากนี้

Health Tech ไทย ‘โตขึ้น’ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา 

พงษ์ชัย เริ่มต้นอธิบายว่าอุตสาหกรรม Health Tech ในไทยเติบโตขึ้นมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเหตุผลหลักๆ จากการได้รับเงินจากนักลงทุนที่ช่วยให้สตาร์ทอัพผู้พัฒนานั้นเติบโตได้มากขึ้น เพราะเดิมทีการจะลงทุนใน Health Tech นั้นมีความซับซ้อน รวมถึงมีกฎหมายกฎระเบียบที่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจด้านการขนส่ง อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ทำให้นักลงทุนไม่ค่อนสนใจเข้ามาลงทุนในด้านนี้

เช่นเดียวกับการเติบโตของตลาด ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนนวัตกรรม เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือการมีนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ของรัฐบาลที่เกิดเป็นนวัตกรรมการร่วมให้บริการ เช่น โทรเวชกรรมทางไกล (Telemedicine) เป็นต้น

มากไปกว่านั้นยังมีเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน AI โดยเฉพาะ ‘Generative AI’ หรือ AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการพลิกโฉมวงการนวัตกรรมทั่วโลก ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการนำ AI มาใช้ในด้านการแพทย์

“ตอนนี้เทคโนโลยีมาแล้ว รวมถึงการนำมาใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งโควิดพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ทำให้เกิดการพัฒนา เช่น AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดที่พัฒนาขึ้นในช่วงนี้ และถูกนำมาใช้โดยสถานการณ์ที่กึ่งๆ บังคับ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นหมอก็จะทำงานไม่ทัน อ่านไม่ทัน ก็เลยกลายเป็น เทคโนโลยีมาประจวบกับเวลาได้” พงษ์ชัย วิเคราะห์

ไทยยัง ‘ตามหลัง’ เนื่องจากขาด ‘การลงทุน’ 

เมื่อมองถึงทิศทางการเติบโตข้างหน้าของ Health Tech เขาให้ภาพต่อว่า ในต่างประเทศนั้นจะมีกลุ่มนักลงทุนที่มีความคุ้นชินกับการลงทุนในด้านสุขภาพมากกว่า โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพในอาเซียน เนื่องจากมีการลงทุนของนักลงทุน ทำให้เทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถขยายต่อได้ในหลายประเทศ

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วนั้น ยังถือว่าตามหลังในเรื่องของการลงทุน เพราะยังขาดนักลงทุนที่มีความเข้าใจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีอัตราเร่งที่เติบโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้จะต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างนักลงทุน ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพเองที่ต้องร่วมมือกัน จะให้ใครทำฝ่ายใดฝ่ายเดียวก็อาจจะไม่พอ ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็ถือเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้าน ‘เวชศาสตร์เขตร้อน’ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก

นอกเหนือไปจากการคิดและทำให้เป็นเทคโนโลยีออกมาแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการ ‘ทำวิจัย’ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ เช่น หน่วยงานวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ โดยตอนนี้ภายใต้สมาคมฯ ก็มีอยู่ 4-5 บริษัทที่เริ่มทำงานวิจัยทั้งในเชิงลึกและเชิงต่อยอด

นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย ขยายความต่อไปว่า การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาอย่างเดียว ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีตัวนั้นดีหรือไม่ดี แต่การมีวิจัยนั้นจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีนั้นดีเพียงพอต่อการใช้งาน ปลอดภัย หรือถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

“ผมร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ทำวิจัยเรื่อง AI วิเคราะห์การเต้นของหัวใจ หรือPerceptra ซึ่งมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกมา หรือที่ภาคเหนือก็มี Smile Migraine ที่ตีพิมพ์งานวิจัยอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นองค์ความรู้ ซึ่งถ้าไม่มีการทำวิจัยหรือการเก็บข้อมูลเป็นระบบ เราก็จะไม่รู้” เขากล่าวเสริม

หนทางยกระดับ ‘ระบบสุขภาพ’ ต้องอาศัยแรงขับหลายมิติ 

เมื่อมองถึงการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ จากสมาชิกกว่า 50 บริษัทที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ นั้น ล้วนมีความตั้งใจอยากที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับระบบสุขภาพไทยตามความถนัดของตนเอง ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงได้มีการแบ่งหมวดหมู่ของผู้ให้บริการหลักๆ ทั้งในด้าน AI ทางการแพทย์ ด้านเครื่องมือแพทย์ ด้าน Telemedicine เป็นต้น

ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการใด มีความสนใจในด้านใดด้านหนึ่ง ก็สามารถติดต่อสมาคมฯ ได้ เพราะสมาคมฯ จะเป็นตัวกลางในการประสานงาน ทั้งการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการจับคู่สตาร์ทอัพกับแหล่งเงินทุน กรณีที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการไม่มีงบประมาณในการดำเนินการเบื้องต้น ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจับคู่ไปแล้วเกือบ 100 โรงพยาบาลใน 5 บริษัทสตาร์ทอัพ

พงษ์ชัย ยืนยันว่า กว่า 50 บริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ นั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกับหน่วยบริการเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพ รวมถึงหน่วยงานสำหรับการเบิกจ่ายค่าบริการ อย่าง สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ด้วยเช่นกัน

ทว่าภายใต้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพด้วยเทคโนโลยีนั้น จำเป็นจะต้องร่วมกันผลักดันในหลายมิติ เช่น มิติด้านนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ มีโอกาสได้รับเชิญจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดนโยบายด้วยการทำ Working Group ให้ความเห็น พร้อมกันนั้นสตาร์ทอัพก็ได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนในหลายส่วน ตัวอย่างเช่น การให้บริการ Telemedicine จากแอปพลิเคชันคลิกนิก หรือหมอดี ของ สปสช. เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยตรวจจับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสภาพอากาศ สารเคมีในอากาศ กระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยมีสตาร์ทอัพที่พัฒนาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความรุนแรงในโรงพยาบาล พัฒนา AI ตรวจจับอาวุธ หรือเทคโนโลยีที่ช่วยมอนิเตอร์สภาพอากาศ ก็มีการพัฒนาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายด้วย เพราะเทคโนโลยีนั้นมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ และมากไปกว่านั้นคือมิติด้านวิชาการ เพราะในการขับเคลื่อนจำเป็นต้องมีการศึกษาหาความรู้ รวมถึงการทดลอง

พงษ์ชัย ระบุว่า ในส่วนนี้สตาร์ทอัพหลายแห่งก็ทำงานร่วมกับโรงเรียนแพทย์ หรือกรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนจะคลอดเป็นเทคโนโลยีออกมา ยกตัวอย่างเช่น ‘Perceptra’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย

ขณะที่มิติด้านเงินทุน ก็จะช่วยให้สตาร์ทอัพมีขีดความสามารถในการขยายตลาด ทั้งการสนับสนุนโรงพยาบาลทดลองใช้ในช่วงแรก ตลอดจนท้ายที่สุดคือการช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติโดยตรง โดยเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ เหมือนกับที่ Dietz.asia ทำ คือความร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐในการดูแลผู้ป่วยทางไกล โดยที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับบริการด้านสาธารณสุข

มองทิศทางไทย กับทางเลือกพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม 

เทคโนโลยีในการป้องกันโรค เทคโนโลยีในการส่งเสริมสุขภาพ เทคโนโลยีด้านกรรมพันธุ์หรือพันธุศาสตร์ รวมถึงเทคโนโลยีว่าด้วยเรื่องเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาสูง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ พงษ์ชัย มองว่ายังขาดอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดเราควรจะต้องมีแนวทางที่สามารถพึ่งตัวเองได้ โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะกับการใช้งานภายในประเทศ และสามารถส่งออก

แต่ก็อาจเห็นได้ยาก สำหรับภาพของการผลิตเครื่องมือแพทย์แพงๆ อย่าง เครื่อง MRI หรือ CT Scan ด้วยเครื่องมือเหล่านี้มีต้นทุนทางเทคโนโลยีที่สูง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปี

“ผมคิดว่าเราจะต้องเลือก เพราะเรามีเงินน้อย เราอาจจะต้องโฟกัสว่าอะไรที่จะทำให้เรา Win ในอนาคต ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็น AI เพราะเรามีข้อมูล ใช้ต้นทุนน้อย และนักวิจัยเราก็เก่ง เมื่อเทียบกับที่อื่น” นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย ให้มุมมอง

จากการสนทนาทั้งหมดนี้ได้นำมาสู่บทสรุปสุดท้ายซึ่ง พงษ์ชัย ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ทิศทางที่สมาคมฯ จะเดินต่อไปนั้น คือมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือ เพื่อให้ทุกคนโตไปพร้อมกันอย่างไม่มีใครโดดเดี่ยว นักวิชาการสามารถขายของ ผู้พัฒนาได้เทคโนโลยีจากข้อมูลฝั่งนักวิชาการ ภาครัฐได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนักลงทุนก็ได้ผลตอบแทน

พร้อมกันนั้น เขาก็อยากให้ลดการผูกขาดในตลาด และขอให้หน่วยบริการต่างๆ มีโอกาสได้เลือกสินค้าและบริการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มากกว่าการบังคับให้เลือกสิ่งที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น