ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา แจง รพ.แม่สอด มีการประกาศแผนรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก และยุติแผนเมื่อดูแลผู้ป่วยเสร็จสิ้น ขณะนี้เตรียมพร้อมระบบผ่าตัดและส่งต่อทั้งจังหวัด รวมห้องผ่าตัด 19 ห้อง ไอซียู 36 เตียง


วันที่ 22 เม.ย. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 2 ลงพื้นที่ โรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามการดำเนินงาน 2 จุด คือ โรงพยาบาลแม่สอด เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนอีกจุดคือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ราชการจัดไว้รองรับผู้หนีภัยฯ ซึ่งจะมีมาตรการคัดกรองสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันโรค และดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ

ทั้งนี้ คืนวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลแม่สอดมีการประกาศแผนฉุกเฉิน เป็นแผนด้านการรองรับผู้ป่วยหมู่ เนื่องจากมีผู้ป่วยส่งเข้ามาพร้อมกันถึง 22 คน ซึ่งเป็นแผนรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามปกติของโรงพยาบาล มี 3 ระดับ คือ รุนแรงสูงสุด มีผู้บาดเจ็บหนัก 7 คน ผู้ป่วยมากกว่า 20 คน รุนแรงปานกลาง มีผู้บาดเจ็บหนักน้อยกว่า 7 คน ผู้ป่วยรวมมากกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 20 คน และระดับรุนแรงน้อย โดยเมื่อให้การดูแลผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะยุติแผนฉุกเฉิน 

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ในส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการบาดเจ็บ ที่ผ่านมา มีผู้รับบาดเจ็บต้องรับการผ่าตัดรวม 41 ราย ซึ่งหน่วยงานในมิติด้านสาธารณสุข เราให้การดูแลผู้ป่วยทุกราย ไม่แยกว่าเป็นฝ่ายใด และเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงรับไปดำเนินการดูแลต่อ

สำหรับแผนรองรับผู้ป่วยดังกล่าว ได้จัดเตรียมห้องผ่าตัดและเตียงโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลพบพระ โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลแม่สอด รวมห้องผ่าตัด 19 ห้อง และไอซียู 36 เตียง กรณีมีการผ่าตัดมากกว่า 4 ราย จะส่งต่อในจังหวัด และหากมากกว่า 10 ราย จะพิจารณาส่งต่อในเขตและจังหวัดใกล้เคียง 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนบริเวณพื้นที่ปลอดภัยฯ ได้จัดพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำทุกวันๆ ละ 3 คน และแพทย์โรงพยาบาลแม่สอดให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน และได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ไว้รองรับ ขณะที่ด้านสุขาภิบาล น้ำกินจะใช้แบบบรรจุขวดเท่านั้น ส่วนน้ำใช้ มีการตรวจวัดและเติมคลอรีนในน้ำ ให้คำแนะนำตรวจสอบอาหารทุกมื้อ แนะนำการจัดการขยะ และจัดอาสาสมัครในกลุ่มผู้หนีภัยฯ ช่วยจัดการขยะในพื้นที่